Travel like the wind : เที่ยวเมืองตะวันออก(ปราจีนบุรี) ๒
: สุชาติชูลี
แหวกผ้าม่านมองผ่านบานหน้าต่างกระจกที่มีฝ้าละอองน้ำ ภายนอกห้องพักนั้นดูชุ่มฉ่ำ ค่ำวานนี้ฝนตกหนักอากาศสบาย ๆ ผมจึงหลับไหลไปกับภาพฝัน น่าเสียดายที่จดจำไม่ได้ หากคำถามเดิม ๆ ก็วนเวียนเข้ามาในทุก ๆ เช้าที่ตื่นมา “วันนี้จะทำอะไร จะไปไหนดี ?”
นี่อาจจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายขวบปีที่ผมเดินทางท่องเที่ยวเพียงลำพัง ตลอดทางที่ขับรถฝ่าฝนเหลือบมองเบาะนั่งข้าง ๆ ที่ว่างเปล่า หากในภาพจำยังคงมีใครบางคนนั่งอยู่ตรงนั้น ห้วงอารมณ์ที่รู้สึกเคว้งคว้างเสมือนเด็กน้อยเดินเตาะแตะไขว่คว้าหาที่ยึดเหนี่ยว
หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาพิมพ์ข้อความเสิร์ชหา “วัดใกล้ฉัน” และภาพวัดต่าง ๆในปราจีนบุรีพร้อมคำอธิบายก็แสดงผ่านหน้ามือถือ จนเจอวัดแห่งหนึ่งที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมการผสมผสาน ไทย จีน ตะวันตก เขมร รวมทั้งประวัติความเป็นมาของวัด เมื่อได้คำตอบให้กับตัวเองก็รีบอาบน้ำแต่งตัว ระหว่างทางไม่ลืมแวะซื้ออาหารคาวหวาน น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋และน้ำดื่ม หมายใจว่าจะใส่บาตรทำบุญ
ขณะที่ก้าวเท้าลงจากรถ หันรีหันขวางจะไปทางไหนดีพื้นที่วัดแก้วพิจิตรนั้นกว้างขวาง ที่สำคัญไม่มีพระสงฆ์เลยสักรูป เวลานี้น่าจะไปบิณฑบาตรจึงตั้งใจจะไปดักรอที่หน้าประตูวัด ทว่าเมื่อเดินมาถึง ลานคอนกรีตหน้าโรงฉันเจอพระภิกษุรูปหนึ่งเดินมา…
“มาเที่ยวหรือโยม?” ท่านถาม
“ใช่ครับ แต่ผมจะใส่บาตรด้วย”
“พระเพิ่งจะฉันกันเสร็จนะ เดี๋ยวอาตมาจะรับไว้แล้วฉันในช่วงเพล เอ้า! นั่งลงรับพร”
ความรู้สึกคุ้นเคยผุดขึ้นมาในใจเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาผมดำรงสถานะห่มผ้ากาสาวพัสตร์ยืนอุ้มบาตรแล้วมีโยมนั่งรับพร แต่วันนี้สถานะนั้นเปลี่ยนไป
“แล้วจะไปไหนต่อ เข้าไปดูในโบสถ์ไหม ? ถ้าไม่รีบทำวัตรเช้าด้วยกัน”ท่านเอ่ยถามเชิงชักชวน ซึ่งผมเองก็ไม่มีจุดหมายอื่น จึงรีบเดินตามท่านไป ภายนอกวัดที่งดงามด้วย สถาปัตกรรมผสมผสาน หากภายในนั้นก็งดงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะหลวงพ่ออภัยวงศ์หรือหลวงพ่ออภัย องค์พระประธาน ภาพวาดจิตรกรรมบนแผ่นผ้าที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ระหว่างนั่งรอเจ้าอาวาสและพระภิกษุรูปอื่นท่านก็ชวนคุยสัพเพเหระ ถามที่มา ทำงานอะไร จะไปไหนต่อ ? จนมาถึงคำตอบที่ท่านต้องตอบผมบ้าง
“อาตมาบวชประมาณ ๑๕ พรรษา ก่อนตัดสินใจบวชก็ทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดซื้อในโรงงาน ใหญ๋ที่ปราจีนนี่แหละ ชีวิตก็ดำเนินไปตามปกติทางโลกคือมีหน้าที่การงานที่ดี มีครอบครัว แต่มาถึงจุดที่ทุกอย่างลงตัว สถานะครอบครัวมั่นคง ลูกก็เติบโตมีหน้าที่การงาน ในความรู้สึกลึก ๆ ของอาตมาทางโลกนั้นดูสับสน วุ่นวายในขณะที่มีทุกสิ่งทุกอย่างพรั่งพร้อม อยากแสวงหาหนทางสงบจึงขอพวกเขามาสู่โลกทางธรรม” ท่านพูดจบเลื่อนสายตาไปทักทายพระภิกข์ที่กำลังทยอยเข้ามานั่งในอุโบสถ
“ผมเองก็เพิ่งสึกมาครับ”
“สึกทำไมรึ?”ท่านถาม
“มีอะไรหลายอย่างที่ยังคั่งค้างหนี้สินส่วนตัว บ้าน รถ และครอบครัว”ผมตอบท่านหยุดนิ่งแล้วแหงนหน้าออกไปซุ้มประทางเข้าอุโบสถ “โยมเห็นนาฬิกาบนซุ้มประตูไหม รู้ไหมว่ามีนัยอะไร ?
ใช่ก่อนหน้าที่ผมจะเข้ามานั่งอยู่ในพระอุโบสถ ก็เอะใจกับนาฬิกาที่บอกเวลาอีกประมาณ ๑๕ นาทีจะเที่ยงนึกสรุปได้ว่า “ไม่เที่ยง”ผมตอบ
ท่านยิ้มและพูดสำทับ “นั่นแหละคือความจริง โยมก็น่าจะได้เรียนรู้มาบ้างแล้ว” จากนั้นท่านก็ลุกไปนั่งยังพื้นที่สงฆ์ โดยมีท่านเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส คณะสงฆ์ในวัด เวลาผ่านไป ๓๐ นาทีกว่าการทำวัตรเช้าก็แล้วเสร็จ คณะสงฆ์เริ่มทยอยออกพระอุโบสถ ในขณะที่ผมยังคงนั่งตรงข้ามหลวงพ่ออภัยวงศ์ ปล่อยให้ความสงบนิ่งได้กลั่นกรองอะไรบางอย่างที่คั่งค้างอยู่ภายใน
ให้นึกไปถึงเรื่องเล่าเมื่อครั้งพุทธกาลครา พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในป่าไม้นั้น ทรงเอาพระหัตถ์กำใบไม้ขึ้นมากำหนึ่ง แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบไม้ในกำมือของเรานี้กับใบไม้ในป่าอย่างไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายก็ย่อมตอบว่า ใบไม้ในป่ามีมากมาย ใบไม้ในกำพระหัตถ์ของพระองค์นั้นน้อยนิดเดียว
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า “..ข้อนี้ฉันใด สิ่งที่เราสอนแก่เธอทั้งหลายก็ฉันนั้น สิ่งที่เราสอนแก่เธอนั้นเป็นเหมือน ใบไม้ในกำมือ” นี้ ซึ่งมีนิดหน่อย ส่วนสิ่งที่รู้แต่ไม่ได้สอนนั้น เหมือนใบไม้ในป่า ทำไมจึงไม่สอน เพราะสิ่งเหล่านั้นมันไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ส่วนสิ่งที่สอนก็เพราะมันเป็นไปเพื่อประโยชน์ มันใช้ดับทุกข์ ได้
การเดินทางไปที่ใดที่หนึ่งใช้เวลาไปกับสิ่งที่เห็น ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เพื่อนร่วมโลก สิ่งแวดล้อมรอบกาย ย่อมเชื่อมโยงกับสัมผัสทางอารมณ์ รู้สึกภายใน-ในวันเวลาที่ผมต้องไม่เร่งรีบจึงได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างในความเคว้งคว้างเราอาจค้นพบบางสิ่งที่พอจะยึดเหนี่ยวไว้ได้ ดังคำพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “ปุพฺเพ จาหํ ภิกฺขเว เอตรหิ จ, ทุกฺขญฺเจว ปญฺญาเปมิ, ทุกฺขสฺส จ นิโรธํ ” (แปลว่า) “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลก่อนก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี เราบัญญัติสอน เฉพาะเรื่องความทุกข์ กับเรื่องความดับทุกข์เท่านั้น” ผมกราบลาหลวงพ่ออภัยองค์พระประธาน เหลือบมองนาฬิกาซุ้มประตูที่แฝงนัย นึกสาธุขอบคุณท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ( ชุ่ม อภัยวงศ์ )ในใจ…
ที่มา : ธรรมนิพนธ์ “หลักทั่วไปของพุทธศาสตร์”
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
https://www.watnyanaves.net/th/book-reading/468/9
วัดแก้วพิจิตร พระอารามหลวง
ผู้สร้าง: วัดแก้วพิจิตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๒ โดยนางประมูลโภคา ภรรยาของขุนประมูลภักดี ต่อมาเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้บูรณะและสร้างศาสนสถานต่าง ๆ ภายในวัด
- สถาปัตยกรรม: วัดแก้วพิจิตร มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและแตกต่างจากวัดอื่น ๆ โดยผสมผสานศิลปะจากหลากหลายวัฒนธรรม เช่น ไทย จีน ยุโรป และขอม ทำให้วัดแห่งนี้มีความสวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัดแก้วพิจิตร
https://pri.onab.go.th/th/content/category/detail/id/110/iid/646#:~:text=วัดแก้วพิจิตร
สถานที่ท่องที่ยวอื่น ดูได้ที่ การท่องเที่ยวจังหวัดปราจีนบุรี
คลิกลิ้งค์: https://thai.tourismthailand.org/Destinations/Provinces/ปราจีนบุรี/230