Miracle of Life : สุชาติ ชูลี
บางเวลาที่รู้สึกเบื่อหน่ายกับอะไรหลาย ๆ อย่างโถมซัดเข้ามาทั้งสิ่งแวดล้อมกาย จากข้อมูลข่าวสารมากมาย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งซึ่งส่งผลกระทบต่ออารมณ์ภายในจิตใจ ในวันเวลาแห่งสภาวะความเปลี่ยนแปลง รวดเร็ว ฉับพลัน จนแทบไม่อยากจะรับรู้สิ่งใด การกดปุ่มรีโมทปิดทีวี ปิดสวิตช์ปลั๊กไฟ หยิบกุญแจสตาร์ตรถออกจากบ้าน ที่ไหนก็ได้ในโมงยามที่รู้สึกเคว้งคว้าง ก้าวเท้าย่ำไปในตรอกเล็กตรอกน้อย ห้องแถว บ้านเรือนผสมผสานระหว่างเก่าใหม่และชำรุดทรุดโทรมไปตามกาล
กลิ่นหอมดอกมะกอกน้ำที่บานสะพรั่งกับสายลมยามบ่ายผ่อนคลายอารมณ์ที่ขุ่นมัวจากถ้อยคำของผู้มากล้นอำนาจ ที่อ้างว่าอยากช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจกด้วยการกู้เงินมาแจก…แล้วยัดเยียดระบบ ขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนด้วยหลักเกณฑ์
“โอ้ย! คุณฉันอายุ ๘๗ ปีแล้วจะเอาอะไรกันนักหนา อยู่มาได้ทุกวันนี้ก็ด้วยลำแข้งของตนเอง ” ยินเสียงสนทนาระหว่างหญิงชรากับลูกค้าที่แวะเวียนมาทักทาย ใบหน้าของเธอยิ้มรับทุกผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา ในขณะที่สองมือง่วนอยู่กับการตวงสินค้าวางขายหน้าร้าน จะว่าไปเธอก็น่าจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์คำ(ฮิตติดหู) นอกจากชุมชน บ้านเรือนและตลาดระแหงที่มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี มนต์เสน่ห์แห่งวันวานที่ยังคงมีลมหายใจ ภาพอดีตอันรุ่งเรืองของการคมนาคมทางเรือที่มีส่วนทำให้ชุมชนตลาดระแหงเป็นพื้นที่เศรษฐกิจการค้าขายและชุมทางที่ผู้คนเดินทางสัญจรทางเรือ แวะเวียนมาเยือนย่านนี้ ทว่าสิ่งเหล่านั้นค่อยๆ อันตรธานหายไปกับห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการของการคมนาคมทางบกเข้ามามีบทบาท มากขึ้น ถนน หนทางสร้างมาเพื่อรองรับคำว่าเจริญ รุ่งเรือง
“ยาย! อายุ ๘๗ ปีแล้วเหรอครับ ยังดูแข็งแรงอยู่เลย ?” ผมนั่งลงบนเก้าอี้ม้านั่งแล้วหยิบถั่วอบไมโลที่วางไว้ให้ชิม เธอยิ้มแล้วพยักหน้า
“ใช่จ้ะ แล้วคุณไปไหนมา-มาเที่ยวตลาดเหรอ?”
“ครับยาย”ผมตอบขณะที่สายตาลอบชำเลืองมองตะเกียงเจ้าพายุ ธนบัตรเก่าแก่ และข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่อีกมากมายที่แขวนและจัดวางอยู่บนชั้น นึกจะสอบถามราคาครั้นเห็นแผ่นป้ายรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์จึงเข้าใจ เลื่อนสายตาผ่านมายังเข็มนาฬิกาเรือนเก่าที่บอกเวลา บ่ายโมงกว่า แว่วเสียงกรดในกะเพาะเริ่มทำงานท้องไส้เริ่มส่งสัญญาณได้เวลาอาหารกลางวัน
“ยาย ในตลาดนี้มีร้านไหนอร่อยครับ ?”
“คุณนี่ไม่เคยมาจริงสินะ โน่น…ฝั่งตรงข้ามโน่น ชื่อ ‘ร้านแปโภชนา’ เป็นร้านระดับมิชลินเชียวนา อาหารจานเด็ดขึ้นชื่อก็ปลากรายผัดกะเพรากับผัดกระเพาะหมูเกี้ยมฉ่ายส่วนอย่างอื่นก็ขึ้นอยู่กับความชอบรสลิ้นของแต่ละคน”
“ขอบคุณครับยาย ว่าเก่า ๆ ในร้านนี้ขายหรือเปล่าครับ?”
“ไม่ได้มีไว้ขาย มีไว้เพื่อโชว์ ฉันเก็บมาตั้งแต่เด็ก ๆ นั่นเห็นรูปนั้นไหม? มีฝรั่งเขามาเที่ยวแล้วถ่ายรูปฉันแล้วอัดใส่กรอบส่งมาให้ฉัน” เธอบุ้ยปากไปยังภาพของตัวเองที่แขวนติดโชว์
“แหม! ยิ้มเก่ง คุยเก่ง อย่างนี้ใครจะไม่หลง” ผมแซว
“ทำไงได้ ไอ้เราก็แม่ค้าแม่ขายจะนั่งหน้าตาบูดเบี้ยวใครเขาจะเข้าร้าน” พูดจบก็หัวเราะร่วน แล้วหันไปทักทายลูกค้าเจ้าประจำอย่างอารมณ์ดี ส่วนตัวผมก็ถือโอกาสไปลิ้มรส “ปลากรายผัดกะเพรา” ซึ่งรสชาติก็สมดั่งคำร่ำลือและยังมีร้านอาหาร ก๋วยเตี๋ยว กาแฟและขนมหวานมากมายในตลาดระแหง
ตลอดบ่ายวันนั้นหลังจากลิ้มลองกาแฟและขนมเบื้อง ความรู้สึกมึนตึงก็ค่อย ๆ ผ่อนคลายบางทีการที่เราได้ปิดปุ่มปิดสวิตช์แก่งการรับรู้ข่าวสารบ้านเมือง ไม่สนใจถ้อยคำอ้างของเหล่านักเล่นเกมการเมือง “โอ้ย! คุณฉันอายุ ๘๗ ปีแล้วจะเอาอะไรมากมาย อยู่มาได้ทุกวันนี้ก็ด้วยลำแข้งของตนเอง” คำ ๆ นี้ผุดเข้ามาในมโนสำนึกที่มองเห็นความแตกต่าง” มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องอาศัย อยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีบ้างที่ต้องพึ่งพา ความช่วยเหลือแต่ก็มิได้ดูแคลนตนเองจนถึงขนาดก้มยอมกับความไม่ถูกต้อง “เงินที่มาแจก ก็กู้เขามาแล้วมาตั้งเงื่อนไขโน่น นี่ นั่นจะให้สักทีก็ต้องลงทะเบียน กรอกข้อมูลให้วุ่นวาย ซ้ำยังไม่ได้เงินสด บิตคงบิตคอยน์อะไรกันฉันไม่รู้เรื่อง ทำไมไม่โอนเข้าบัญชีแจกตรงไปเลย” ภาพของแม่ค้าในตลาดกับบรรยากาศที่ร้านรวงต่าง ๆ ห่างหายไป เศรษฐกิจที่ดีนั้นควรจะเป็นอย่างไร? บางทีคำตอบที่ได้อาจเหมือนรสลิ้นแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงเงินที่กู้มากลับเป็นภาระให้คนรุ่นอนาคต…
ตลาดระแหง เป็นตลาดเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานกว่า ๑๐๐ ปี ตั้งอยู่ริมคลองระแหง ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในอดีต ทำให้ตลาดแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของชุมชนระแหงและพื้นที่ใกล้เคียง
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในตลาดระแหง
- การเปลี่ยนแปลงทางคมนาคม: เมื่อมีการสร้างถนนและระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ทำให้ความสำคัญของคลองระแหงลดลง แต่ตลาดระแหงก็ยังคงดำรงอยู่และปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน: ตลาดระแหงได้รับการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นสถานที่ค้าขายที่สะดวกสบายและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
- การอนุรักษ์และส่งเสริม: ในปัจจุบัน ตลาดระแหงได้รับการอนุรักษ์และส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของคนในชุมชน
ความสำคัญของตลาดระแหง
ตลาดระแหงไม่เพียงแต่เป็นสถานที่สำหรับการค้าขายเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์รวมของชุมชน เป็นสถานที่ที่ผู้คนได้พบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนข่าวสาร และสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน นอกจากนี้ ตลาดระแหงยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทย.
ตลาดระแหง
เป็นมากกว่าแค่ตลาดสดทั่วไป เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชนระแหงและจังหวัดปทุมธานี การมาเยือนตลาดระแหงจึงเป็นเหมือนการเดินทางข้ามกาลเวลา เพื่อไปสัมผัสกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันเรียบง่ายของคนไทยในอดีต