Travel like the wind by สุชาติ ชูลี.

สองฝั่งทางที่รถแล่นผ่านทุ่งนา สลับทิวเขาซับซ้อนฤดูแห่งความชุ่มฉ่ำทำให้มองไปในทิศทางใดก็เห็นแต่ความเขียวขจีของป่าเขาและนาข้าวที่กำลังเจริญเติบโต ด้วยเวลากระชั้นชิด อีกทั้งจุดหมายข้างหน้ายังอีกไกลเวลาก็บ่ายกว่าแหงนมองท้องฟ้าเห็นเมฆฝนกำลังก่อตัว จึงได้แต่เก็บภาพงดงามเหล่านั้นไว้ภายในใจ ป้ายบอกทางชี้ให้เลี้ยวขวาผ่านทุ่งนาชุมชน จนมาถึงบริเวณทางแยก เห็นกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) นั่งพักกลางวันอยู่ศาลาของชุมชน เพียงแรกเห็นหอไตรปิฏกเสาเดี่ยวที่อยู่ใต้ร่มเงาต้นมะขาม ผมจึงถือโอกาสเดินดูรอบ ๆ เริ่มมีบางส่วนที่ผุพัง ก็อย่างว่าสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ไม่ว่าจะงดงาม มหัศจรรย์แห่งศิลป์ ก็มิอาจยืนหยัดท้าทายกาลเวลาได้เนิ่นนาน ทุกสิ่งย่อมมีชำรุดทรุดโทรมและต้องการผู้ดูแล บำรุงรักษา 

เล่ากันว่าอาคารไม้ทั้งหลังตั้งอยู่บนเสาปูนขนาดความกว้าง ประมาณ ๕๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑ เมตร ในส่วนของแกนหลักใช้รับน้ำหนักศาลาไม้ ๒ ชั้นสร้างโดย นายไท้ สิงห์รัก ราวปี พ.ศ. ๒๕๐๒ (เสียชีวิตแล้ว) สถาปัตยกรรมท้องถิ่น ที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย อันมีรากฐานจากความเชื่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวไทยเชื้อสายชาวลาวที่อพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในละแวกนี้ นับว่ายังดีที่ชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์ ซ่อมแซม และบูรณะ เพื่อเก็บไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาของคนไทยสมัยก่อน 

เดิมทีพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งวัดโคกผักหวาน แต่เนื่องจากไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาประจำวัดจึงจึงกลายเป็นวัดร้าง ด้วยสภาพของปราสาทเสาเดียวที่เริ่มผุพัง ทำให้ผมไม่กล้าขึ้นไปดูได้แต่แง้มประตูไม้ที่มีช่อฟ้าพญานาคที่หักพังถูกนำมาวางกั้นประตู  ภายในตัวปราสาทจะมีเสาไม้ขนาดใหญ่ ๑ ต้น เจาะเป็นช่อง สอดด้วยคานไม้รับน้ำหนักพื้นของทั้ง ๒ ชั้น โดยไม่ใช้ตะปูยึด มีหน้าต่างและช่องแสงลอดผ่าน  ส่วนหลังคาที่เป็นสังกะสีก็เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วลงมาจนทำให้ไม้ผุ และในการบูรณะครั้งล่าสุด ชาวบ้านได้นำแท่งเหล็กมาค้ำยัน เพื่อพยุงอาคารไม้ไม่ให้หักโค่นลง 

เห็นซากเจดีย์ไม้ไผ่ที่ถูกเถาวัลย์เลื้อยปกคลุม ผมจึงเดินกลับมาพูดคุยสอบถามกับ กลุ่มพี่ ๆ อสม. ที่นั่งพักเหนื่อยอยู่ในศาลาก็ได้คำตอบว่า “เจดีย์ดอกไม้ ที่เป็นประเพณีแห่ในช่วงวันสงกรานต์ของทุกปี ปีหน้ามาเที่ยวสิ มีหลายวันงานสนุกมากเลยนะ !” ตัวแทนในกลุ่มกล่าวชักชวน

“แล้วจะไปไหนต่อ พี่เห็นขับรถวนอยู่สองรอบ?”

“พอดีกำลังหาทางขึ้นไปบนยอดเขา”ผมตอบ

“รถคุณหรือเปล่าคะ ถ้าไม่ใช่ก็ขึ้นไม่ได้ อีกอย่างถนนค่อนข้างชันและลื่นคนไม่คุ้นเส้นทางจะตกเขาเอาได้นะ” ได้ยินน้องผู้หญิงอีกคนเอ่ยถามเช่นนี้ผมก็แทบจะพับแผนการ แต่เธอก็บอกว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวจะโทรหาพระอาจารย์ขับสือภูเขา*ลงมารับ…

ผมรีบขอบคุณและกล่าวลาพี่ ๆ อสม.ทุกท่านเร่งขับรถไปหาที่จอดรถ ข้ามสะพานโดยมีเจ้าตูบนำทางแล้วยืนรอบริเวณจุดรับ-ส่ง ระหว่างนั้นก็เดินทุ่งชมนาขั้นบันได แว่วเสียงเครื่องยนต์คล้ายรถไถ ดังมาจากยอดเขา…

หมายเหตุ; ปราสาทเสาเดียวหรือหอพระไตรปิฎก ตั้งอยู่ หมู่ ๕ ตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

ติดตามอ่านตอนต่อไป…