โลกเปลี่ยน ยุคสมัยสังคม คนก็เปลี่ยน…สิ่งที่ไม่พึงประสงค์ไม่ว่ารูปแบบใดคนเราต่างที่มา ต่างความเข้าใจ มีเหตุผลและมุมมอง หลายร้อยปีก่อนกลางสมรภูมิรบต้องการผู้นำในการศึกสงคราม คือที่มาของรากเหง้าและความภาคภูมิใจในความเป็นไทยที่ไม่ได้ปล้น ฉกชิงแผ่นดินผู้อื่นมาครอบครอง…

…เธอก้มเก็บดอกลีลาวดีที่ร่วงหล่นลงระหว่างทางเดิน บางครั้งก็วิ่งไปเก็บบริเวณใต้ร่มเงาต้นลีลาวดีด้วยความเพลิดเพลิน ผมไม่อยากเร่งรีบปล่อยให้เธอได้ผ่อนคลายอารมณ์ก่อนจะก้าวเดินสู่ปราสาทแห่งพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

ศาสนสถานแห่งนี้น่าจะเป็นหมุดหมาย อันแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองและอำนาจที่เคยเฟื่องฟูของอารยธรรมจากดินแดนบูรพาทิศ สู่ดินแดนชายขอบทิศประจิมของเมืองไทย หากย้อนไปไกลกว่านั้น ก็คงต้องอ้างอิงจากหลักฐานซึ่งนักโบราณคดีขุดค้นพบ บริเวณนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ ริมแม่น้ำแควน้อย อาทิหลุมฝังศพมนุษย์และเครื่องมือเครื่องใช้ที่ฝังร่วมกับศพ เช่น ภาชนะดินเผา ดินเผา ภาชนะสำริด (ขวาน ทัพพี กำไล) ลูกปัดหินอะเกตและคาร์นีเลียน กำไลหิน ลูกปัดแก้ว กำไลเปลือกหอย ฯลฯ กำหนดอายุราวปลายยุคโลหะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ณ อาณาบริเวณแห่งนี้เมื่อสองพันกว่าปีมีเมืองโบราณที่เรียกขานกันว่า “เมืองสิงห์”

118906386 322089505889730 976647952181884562 n

ในมือของเธอ…ยังคงถือดอกลีลาวดีกระโดดโลดเต้นบนขั้นบันไดศิลาแลง ท่ามกลางแสงตะวันแผดกล้าจนเหงื่อชุ่มไปทั้งเรือนหน้า ผู้คนมากมายต่างมาเยี่ยมชมศาสนสถานแห่งนี้ไม่ขาดสาย บ้างเอ่ยถึงความยิ่งใหญ่งดงามของสายธารอารยธรรมขอมที่แผ่ขยายมาถึงที่นี่ บางคนก็พร่ำพูดถึงการนั่งตากแอร์เย็นอยู่ในร้านกาแฟคลายความรุ่มร้อน คิด ๆ ไปก็อดทึ่งต่อความทรหดอดทนของคนสมัยก่อนเสียไม่ได้ พวกท่านเหล่านั้นต้องลำบากตรากตรำ ยาตราทัพเข้าสมรภูมิรบรันพันตูบาดเจ็บล้มตายเพื่อปกป้องอาณาเขต ไว้ให้คนรุ่นหลัง มองอีกด้านกลับกันในยุคนิวนอร์มอล…สงครามความคิดต่างกำลังคุกคามพื้นที่แห่งมิตรภาพ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของผมกับการมาเที่ยวปราสาทแห่งนี้ หากเรื่องเล่าบางเรื่องแม้จะเป็นข้อสันนิษฐาน ทว่าสิ่งที่จะยืนยันถึงอนุสรณ์สถานแห่งพลังความเชื่อและศรัทธาคือปราสาทหินศิลาแลง หลังคาและยอดปรางค์ก่อด้วยหินทราย มีร่องรอยการใช้ปูนปั้นหุ้มประกอบ บนยอดปรางค์ประธานนักวิชาการคาดกันว่าน่าจะมีรูปหน้าคนหรือที่เรียกกันว่าพรหมพักตร์ ทั้ง ๔ ทิศ คือพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อันเป็นสถาปัตยกรรมแบบบายนในยุคสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ 

img 4550

หลักศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ ซึ่งพระวีรกุมาร พระราชโอรส ได้จารึกชื่อเมือง ๒๓ เมือง ที่พระราชบิดาทรงสร้างปราสาท ศาสนสถานซึ่งประดิษฐาน พระชัยพุทธมหานาถ” พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ 
ละโว้ทยะปุระ คือเมืองละโว้ หรือลพบุรี ,สุวรรณปุระ คือเมืองสุพรรณบุรี , ศัมพูกะปัฎฏนะไม่พบหลักฐานว่าอยู่ที่ใด , ชัยราชบุรีคือเมืองราชบุรี ,ศรีชัยสิงห์บุรีคือปราสาทเมืองสิงห์ , ชัยวัชรบุรีคือเมืองเพชรบุรี

…เหลือเพียงร่องรอย อาจเป็นเพราะวันเวลาที่เปลี่ยนผ่านข้ามยุคสมัยนับหลายร้อยปีจนปราสาทพังทลายลงมาบายนแตกหัก เหลือเพียงชิ้นส่วนโบราณวัตถุ ๒ ชิ้นที่ตั้งโชว์อยู่ในอาคารพิพิธภัณฑ์คือครึ่งบนของใบหูหรือพระกรรณขวาของพระพุทธรูป และส่วนที่เป็นจมูกหรือพระนาสิก (ค่อนมาทางข้างซ้าย)ของพระพุทธรูป ด้วยความเชื่อที่ว่าพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรน่าจะมีอยู่หากแต่ถูกมือที่มองไม่เห็นฉกฉวยเอาไป

จะเหตุผลใดก็ตามสิ่งที่ยังอยู่และบอกได้ถึงพลังความเชื่อความศรัทธาและอำนาจแห่งอารยธรรมขอมที่แผ่ขยายมาไกลจนสุดดินแดนทิศประจิมของเมืองไทย คือเรื่องราวของความจริง ความรุ่งเรืองเฟื่องฟูที่หวนคืนสู่สามัญ

โลกเปลี่ยน ยุคสมัยสังคม คนก็เปลี่ยน…สิ่งที่ไม่พึงประสงค์ไม่ว่ารูปแบบใดคนเราต่างที่มา ต่างความเข้าใจ มีเหตุผลและมุมมอง หลายร้อยปีก่อนกลางสมรภูมิรบต้องการผู้นำในการศึกสงคราม คือที่มาของรากเหง้าและความภาคภูมิใจในความเป็นไทยที่ไม่ได้ปล้น ฉกชิงแผ่นดินผู้อื่นมาครอบครอง…

“ป๊า ! ฝากถือดอกไม้ไว้ให้หน่อย หนูจะเอาให้ม๊า” เรือนหน้าที่ชุ่มไปด้วยเหงื่อเผยรอยยิ้มและแววตาใสซื่อ ผมรับดอกลีลาวดีมาถือไว้ อดคิดเสียไม่ได้ กว่าจะกลับถึงบ้านดอกลีลาวดีก็คงเหี่ยวเฉา.

118669955 3209148772513977 6692905792851849411 n

ขอบคุณ ที่มาข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/62594

http://virtualhistoricalpark.finearts.go.th/muangsing/index.php