รวมข้อคิดคำคมของบิดาแห่งชาติของประเทศอินดีย

สำหรับข้าพเจ้าแล้ว
การเมืองที่ปราศจากหลักธรรมทางศาสนา
เป็นเรื่องของความโสมมที่ควรสละละทิ้งเสียเป็นอย่างยิ่ง

การเมืองเป็นเรื่องของประเทศชาติ
และเรื่องที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพของประเทศชาตินั้น
ต้องเป็นเรื่องของผู้ที่มีศีลธรรมประจำใจ
เพราะฉะนั้นเราจึงต้องนำเอาศาสนจักร
ไปสถาปนาไว้ในวงการเมืองด้วย

มหาตมะ คานธี
จากหนังสือ : วาทะ คานธี
กรุณา -เรื่องอุไร กุศลาสัย: รวบรวมและถ่ายทอด
สำนักพิมพ์ศยาม

national artist 20161103121259

นายกรุณา กุศลาสัย เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๖๓ ที่จังหวัดนครสวรรค์  เป็นกำพร้ามาแต่เด็ก และบวชเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๓ ปีในโครงการ “ พระภิกษุสามเณรใจสิงห์ ” ของพระโลกนาถ แล้วติดตามพระโลกนาถไปศึกษาที่สาธารณรัฐอินเดีย ได้เรียนรู้ภาษาฮินดี ภาษาสันสกฤต และภาษาอังกฤษจนเชี่ยวชาญ สอบภาษาฮินดีได้ที่ ๑ ของสาธารณรัฐอินเดีย ได้รับทุนการศึกษาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่ออายุเพียง ๑๘ ปี 

กรุณา กุศลาสัย เริ่มงานเขียนตั้งแต่ยังเป็นสามเณรอยู่ในประเทศอินเดีย ใช้นามปากกา “ สามเณรไทยในสารนาถ ” เขียนบทความลงในธรรมจักษุ พุทธศาสนา และ ประชาชาติ เมื่อเกิดสงครามโลก ครั้งที่ ๒ กรุณา กุศลาสัย ถูกจับเป็นเชลยสงคราม เผชิญกับความอดอยากแสนสาหัส จนต้องสึกจากสามเณร เมื่อสงครามสงบได้ตัดสินใจกลับประเทศไทยเพราะคิดถึงบ้านเกิด ความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับจากสาธารณรัฐอินเดียทำให้ กรุณา กุศลาสัย เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภารตวิทยาอย่างยิ่งจนเป็นพื้นฐานสำคัญให้สามารถแปลแต่งวรรณกรรมชิ้นเอกของอินเดียคือ มหากาพย์พุทธจริต ซึ่งเป็นวรรณคดีสันสกฤตพุทธประวัติฝ่ายมหายานที่มีชื่อเสียงของอัศวโฆษร่วมกับนางเรืองอุไร กุศลาสัย และมหาภารตยุทธ มหากาพย์เรื่องยิ่งใหญ่ของอินเดีย 

นอกจากนั้น ยังสร้างสรรค์วรรณกรรมที่ทรงคุณค่าอีกมากในระหว่างที่ถูกคุมขังด้วยข้อหาทางการเมือง เขียนบทความสั้น ๆ เกี่ยวกับวรรณคดี วัฒนธรรมอินเดีย ทั้งได้แปลแต่งวรรณคดีชั้นเยี่ยมของอินเดียจำนวนมาก ที่สำคัญ ได้แก่ คีตาญชลี พบถิ่นอินเดีย ชีวประวัติของข้าพเจ้า และ แด่นักศึกษา ฯลฯ ส่วนสารคดีเรื่องเด่นของ กรุณา กุศลาสัย คือ อัตชีวประวัติ เรื่อง ชีวิตที่เลือกไม่ได้ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงบันทึกชีวิตของผู้เขียนเท่านั้น แต่เป็นอนุสรณ์ของการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า อันยังประโยชน์แก่ผู้อ่านทั้งปวง ผลงานสร้างสรรค์ของ กรุณา กุศลาสัย จึงมีคุณค่าทางปัญญาและปรัชญาที่มีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ นับเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้ภาษาไทยอย่างยิ่งทั้งที่เรียบง่ายและวิจิตรอลังการ ตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า ๖๐ ปี นายกรุณา กุศลาสัย จึงได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๔๖

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

http://art.culture.go.th/art01.php?nid=31