Travel like the wind : เที่ยวเมืองตะวันออก(ปราจีนบุรี) ๑

: สุชาติ ชูลี

ในบรรดาสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย แมลงปีกแข็งชนิดหนึ่งที่นอกจากจะมีสองปีกแล้วธรรมชาติยังได้สร้างสิ่งพิเศษให้กับพวกมันด้วยดวงไฟเล็กๆส่องแสงสว่างที่โบยบินท่ามกลางความมืดเรารู้จักกันในนาม “หิ่งห้อย” ที่จะผสมพันธุ์และออกหากิน เช้าวันหนึ่งขณะไถหน้าจอมือถือดูความเคลื่อนไหวในโซเชี่ยล ภาพประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานท่องเที่ยวดินแดนบูรพา ชักชวนให้ผู้คนไปเยี่ยมชมฝูงดาวบนดินนับแสน นับล้านตัวที่จะออกมาส่องแสงกะพริบหาคู่รักเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของพวกมัน  มีเรื่องเล่ามากมายที่บอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างหิ่งห้อยกับต้นลำพู ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถหาดูหิ่งห้อยได้หลายที่หลายแห่งโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ป่าชายเลนและแหล่งน้ำจืดที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ทว่านับวันพื้นที่ดังว่าจะเหลือน้อยเต็มที

เที่ยงวันนั้นผมจึงตัดสินใจขับรถฝ่าฝนที่กำลังโปรยลงมา มุ่งหน้าสู่พื้นที่กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒ รักษาพระองค์ ค่ายพรหมโยธี อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ตลอดสองฝั่งทางที่เขียวชะอุ่มชุ่มไปด้วยสายฝนที่ตกลงมาไม่ขาดสาย ในใจก็รู้สึกหวั่น ๆ เกรงว่าจะไม่มีโอกาสได้เข้าไปยลฝูงหิ่งห้อยหรือไม่พวกมันอาจเกียจคร้านนอนอุตุอยู่ในรัง กระนั้นก็ตามเมื่อตัดสินใจมาแล้วก็ต้องไปให้ถึงและเห็นด้วยตาของตนเอง  

บ่าย ๔ โมงกว่าผมขับรถผ่านด่านตรวจของค่ายกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒ รักษาพระองค์ ก่อนจะมาจอดรถบริเวณป้ายบอกจุดชมหิ่งห้อย  ระหว่างรอเวลาที่พวกมันจะออกมาโบยบิน  ผมเดินเข้าไปนั่งศาลากลางป่าอันเป็นจุดชมวิว แต่ก็นั่งอยู่ได้ไม่นานรู้สึกรำคาญสัตว์จำพวกดูดเลือด บินวนเวียนรอจังหวะตอกเข็มสูบเลือด จึงเดินออกมาดูอาคารที่ถูกทิ้งร้าง แผ่นป้ายบอก “สนามแบดมินตัน”ที่กลายสภาพเป็นพื้นที่เก็บกองขยะ ซากยวดยานต์ที่ยากแก่การซ่อมแซม

บรรยากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนจนแทบมองไม่เห็นดวงตะวันลาลับขอบฟ้าในขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวเริ่มมายืนบริเวณรั้วกั้นพื้นที่ป่ารอเวลาจะได้ยลโฉมฝูงดาวบนดิน แต่ยิ่งมืดฝูงยุงก็ยิ่งก่อกวนครั้นจะฉีดเสปรย์ทายากันยุงก็เกรงจะส่งผลให้หิ่งห้อยตายไปด้วยจึงสวมเสื้อแจ็คเก็ตตัวหนาผ้าขาวม้าคลุมศรีษะปิดหูใบหน้าสวมหมวกทับอีกทีและมีข้อห้ามอีกอย่างที่เจ้าหน้าที่เน้นย้ำคือห้ามส่องแสงไฟรบกวนพวกหิ่งห้อย

และแล้วเวลาแห่งการรอคอยก็ถึงมา ในความอนธกาลที่มองเห็นแต่เงาตะคุ่มของต้นไม้เล็ก ต้นไม้ใหญ่มีแสงวับวาวที่ล่องลอยอยู่อากาศ ราวกับว่าพวกมันกำลังเริงระบำเรียกหาคู่รัก แม้จะเป็นห้วงเวลาไม่นาน อีกทั้งจำนวนหิ่งห้อยที่ออกมาให้ชมในวันนี้จะน้อยกว่าทุกวันที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวอากาศร้อน กระนั้นก็ตามผมกลับรู้สึกได้ถึงพลังธรรมชาติที่สร้างสรรค์สิ่งวิเศษให้กับสรรพชีวิตที่อยู่อาศัยร่วมกัน เป็นห่วงโซ่ต่อการดำรงชีวิตและสืบพันธุ์

IMG 1597

แม้ปัจจุบันระบบนิเวศน์นั้นถูกทำลายด้วยคำว่า “พัฒนา” ผืนป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร ที่พักพิงอยู่อาศัย สืบพันธุ์ ของเหล่าสรรพสัตว์เพื่อนร่วมโลก ป่าไม้ถูกคุกคาม แต่สวนป่าค่ายพรหมโยธีนั้นยังมีพื้นที่ป่า ที่ได้รับการดูแลและป้องกันให้…

สิ่งมีชีวิตไม่ว่าตัวเล็ก ตัวน้อยหรือตัวใหญ่ได้มีห้วงเวลาแห่งความรื่นรมย์ บางทีการได้แวะเวียนมาทักทาย เยี่ยมชมฝูงสัตว์ปีกแข็งที่กำลังแสดงระบำหาคู่ ในขณะที่เราเองก็กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัสวิถีแห่งการดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางป่าไม้ อากาศบริสุทธิ์ที่สูดลมหายใจ เพื่อนร่วมโลกนานาชนิดต่างมีหน้าที่ บทบาทที่ต่างกัน แล้วห้วงเวลาแห่งการอำลาก็มาถึง

…ฝูงหิ่งห้อยบินหายไปในความมืดเสมือนฉากการแสดงสิ้นสุด กลุ่มนักเดินทางต่างแยกย้ายไปตามทางของตน ส่วนผมกำลังคัดง้างอยู่กับความคิด ตัดสินใจไม่ถูกว่าระหว่างขับรถกลับบ้านหรือหาที่พักหลับนอน ทว่าเสียงบางอย่างส่งสัญญานมาจากท้อง ดูเหมือนผมจะได้คำตอบให้กับตัวเองแล้ว…

ติดตามอ่าน

Travel like the wind : เที่ยวเมืองตะวันออก(ปราจีนบุรี)

ปล.ภาพประกอบถ่ายจากกล้องโทรศัพท์มือถือ


ข้อแนะนำในการเยี่ยมชมหิ่งห้อย

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการชมหิ่งห้อย

ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการชมหิ่งห้อยคือ ช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในช่วงเดือน มิถุนายนถึงตุลาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่หิ่งห้อยจะผสมพันธุ์และออกหากิน

สถานที่ชมหิ่งห้อยในปราจีนบุรี

  • กรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 รักษาพระองค์: เป็นสถานที่ชมหิ่งห้อยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งในปราจีนบุรี โดยจะมีการจัดเส้นทางเดินชมหิ่งห้อยให้
  • บริเวณป่าชายเลน: รอบๆ อำเภอเมืองปราจีนบุรี มีหลายจุดที่สามารถชมหิ่งห้อยได้
  • ชุมชนท่องเที่ยว: ชุมชนบางแห่งได้จัดกิจกรรมท่องเที่ยวชมหิ่งห้อย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

เคล็ดลับในการชมหิ่งห้อย

  • เตรียมตัวให้พร้อม: ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายและรองเท้าที่เหมาะสมสำหรับการเดินป่า
  • หลีกเลี่ยงการใช้ไฟฉาย: แสงไฟจะรบกวนการมองเห็นของหิ่งห้อย
  • รักษาความสะอาด: ควรทิ้งขยะให้ถูกที่ เพื่อรักษาความสะอาดของธรรมชาติ

ลักษณะเด่นของหิ่งห้อย

  • การเรืองแสง: เป็นลักษณะเด่นที่สุดของหิ่งห้อย โดยอวัยวะที่เรืองแสงจะอยู่บริเวณท้องของหิ่งห้อย
  • วงจรชีวิต: หิ่งห้อยมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างในระยะต่างๆ ได้แก่ ไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ และตัวเต็มวัย
  • อาหาร: ตัวอ่อนของหิ่งห้อยส่วนใหญ่กินหอยทากหรือตัวหนอนเป็นอาหาร ส่วนตัวเต็มวัยบางชนิดกินน้ำหวานจากดอกไม้

การอนุรักษ์หิ่งห้อย

เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้จำนวนประชากรหิ่งห้อยลดลงอย่างต่อเนื่อง การอนุรักษ์หิ่งห้อยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เราสามารถช่วยกันอนุรักษ์หิ่งห้อยได้โดย

  • รักษาแหล่งน้ำให้สะอาด: เนื่องจากแหล่งน้ำเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของหิ่งห้อย
  • ลดการใช้สารเคมี: สารเคมีต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลง สามารถทำลายหิ่งห้อยได้
  • ปลูกป่า: การปลูกป่าช่วยเพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของหิ่งห้อย