Travel like the wind :สุชาติ ชูลี
ท่ามกลางตึกสูงระฟ้าใจกลางเมือง ท้องถนนที่คลาคล่ำไปด้วยยวดยานพาหนะ ผู้คนพลุกพล่านผ่านไปผ่านมา บางคนตั้งใจจะแวะเวียนมาเทวาลัยสถาน ในมือถือเครื่องสักการะ พวงมาลัย มะพร้าวอ่อน กล้วยน้ำว้า เพื่อขอพรจากพระแม่อุมาเทวี เทวีแห่งอำนาจวาสนา และบารมี สำหรับผมแล้วนี่อาจเป็นครั้งแรกที่ได้เข้ามายังศาสนสถานแห่งนี้รู้สึกแปลกตากับรูปแบบสถาปัตยกรรม ศิลปะโบราณแบบอินเดียตอนใต้ในสมัยโจฬะ และปัลวะ ซึ่งพบทั่วไปในเทวาลัยของรัฐทมิฬนาฑู
ในความเปลี่ยนผ่านของแต่ละยุคสมัยจากพื้นที่สวนผักสวนผลไม้ของนางปั้น อุปการโกษากร โดยคณะกรรมการผู้ริเริ่มสร้างวัด ได้ขอแลกเปลี่ยนที่ดินหลังจากได้รับพระบรมราชานุญาต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าในสร้างเป็นวัดแขกสีลมตามความเชื่อและความศรัทธาชาวฮินดูเชื้อสายทมิฬ
ทุก ๆ ปีในช่วงเดือนตุลาคมที่วัดแขกจะมีเทศกาลสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อบูชาพระแม่ทุรคา หรือพระแม่อุมาเทวี (ปางหนึ่งของพระแม่อุมาเทวี) โดยเชื่อว่าเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะของพระแม่ทุรคาที่ปราบอสูรได้สำเร็จหลังจากต่อสู้กันมา ๙ วัน ๙ คืน หรือที่เรียกกันว่า งานแห่ประเพณีประจำปีวัดพระศรีมหาอุมาเทวี วันวิชัยทัสมิ ( งานนวราตรี)
.
เป็นครั้งแรกสำหรับผมที่ได้มาสักการะศาสนสถานแห่งนี้ ยิ่งได้เห็นสถาปัตยกรรมในวัดที่งดงามตามแบบของศิลปะอินเดีย ขณะที่ผู้คนต่างทยอยกันเข้ามา
พราหมณ์เจิมบินดิ ติลักษณ์*ลงบนหน้าผากเฉกเช่นเดียวกับผม หากศรัทธานั้นคือพลังพิเศษจากภายในอันสะท้อนถึงจิตบริสุทธิ์ที่จะน้อมรับสิ่งต่าง ๆ เข้ามาไม่ว่าสิ่ง ๆ นั้นจะมีพลังวิเศษหรือพรให้สมปราถนาดังใจหวัง ทุกอย่างย่อมขึ้นอยู่กับผลจากการกระทำดี-ชั่ว อันเป็นหลักของการใช้ชีวิตประจำวัน รับรู้อารมณ์ ของตนบางทีคำอ้อนอาจเป็นการส่งสัญญานให้กับตัวเอง หากศาสนสถาน เทวรูป เทพยดาหรือสิ่งศักดิ์ในสากลโลกจะหนุนนำ ความสุขย่อมขึ้นอยู่กับความคิดด้านใน-ในวันที่อะไรไม่สามารถควบคุมได้ การหยุดนิ่ง พิจารณาแล้วปล่อยผ่านบางอย่างที่ไม่จำเป็น เพราะทุก ๆ วัน มหัศจรรย์เกิดขึ้นได้ทุกขณะ แค่ปรับแง่คิดและมุมมอง
สายมากแล้วถึงเวลาที่ผมจะต้องกลับไปสู่โหมดหน้าที่การงาน…หน้าที่-ที่หล่อเลี้ยงชีวิตและจิตใจ.
*บินดิ มีหลายชื่อเช่น ติกะ, พอททู (ภาษาเรียกของทมิฬ), ซินดูร์, ติลักษณ์, ติลักกัม, บินดิยา, กุมกุม ชื่อพวกนี้เรียกแตกต่างกันเพราะความแตกต่างกันของท้องถิ่น หรือ วัสดุที่นำมาใช้
บินดิ มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต บางครั้งก็เรียกว่า บินดี ซึ่งแปลว่า จุด ชาวอินเดียส่วนมากที่นับถือศาสนาฮินดู เชื่อว่า บินดิเป็นสัญลักษณ์มงคล
หญิงชาวฮินดูเด็กหรือผู้ใหญ่ จะทำสัญลักษณ์นี้ไว้บริเวณระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง โดยส่วนมากจะใช้ผงซินดูร์ หรือ กุมกุม
อ่านข้อมูล วัดแขกสีลม วัดพระศรีมหาอุมาเทวี เพิ่มเติมได้ที่
https://www.silpa-mag.com/culture/article_120403