Travel like the wind เที่ยวเมืองตะวันออก(ปราจีนบุรี )ตอน ๔
: สุชาติ ชูลี
ออกจากร้านบ้านเล่าเรื่องเมืองปราจีนบุรี ผมขับรถคู่ใจโดยมีจุดหมายต่อไปก็คือพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร บางทีภาพจำเก่าๆ ก็ขัดแย้งกับปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ตึกอาคารหลังใหม่และถนนหนทางที่ขยับขยายไปตามแผนการพัฒนา นั่นจึงทำให้ผมขับรถเลยผ่านอาคารสไตล์บาโรก( Baroque architecture)ที่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำปราจีนบุรี
บนท้องฟ้าเมฆฝนกำลังก่อตัว ผมจึงมุ่งหน้าไปยังบริเวณสวนด้านหน้าตึกอันเป็นพื้นที่สวนหย่อมและอนุสาวรีย์ “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)” อดีตเจ้าตึกที่ใช้ทรัพย์สินส่วนตัวในการสร้างตึกสถาปัตยกรรมตะวันตกที่บ่งถึงความหรูหราโอ่อ่า ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ เพื่อถวายเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หากเสด็จประพาสมณฑลปราจีนอีกครั้ง แต่ทรงเสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาจึงใช้เพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวและเชื้อพระวงศ์อีกหลายพระองค์
ต้นตระกูล“เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)” ปกครองเมืองพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณเจ้าเมืองพระตะบองและเป็นสมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลบูรพาในประเทศกัมพูชา ครั้งยังอยู่ใต้การปกครองแห่งสยามประเทศมาตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๕
ในยุคที่ภัยจากจักรวรรดินักล่าอาณานิคมกำลังคุกคามและเพื่อเป็นคงไว้ซึ่งสยาม จำต้องยอมให้ยกดินแดนภายใต้การปกครองให้แก่ฝรั่งเศส แลกกับการรักษาเมืองจันทบุรีและตราด ผู้สำเร็จราชการมณฑลบูรพาและให้ว่าราชการเมืองพระตะบอง ได้ทูลเกล้าให้ความเห็นว่า “ควรยอมเสียดินแดนส่วนน้อย เพื่อแลกกับเอกราชส่วนใหญ่”
ถึงว่าแม้ฝรั่งเศสต้องการให้เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (ชุ่ม) รับราชการเป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองพระตะบองต่อ หากความจงรักภักดีของท่านเจ้าพระยาฯ ที่มีต่อชาติ ต่อแผ่นดินและพระมหากษัตริย์ไทย ท่านจึงสละตำแหน่ง อำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ พร้อมชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายในตำแหน่งเจ้าเมืองพระตะบอง พาครอบครัวเดินทางมาเป็นข้าราชการธรรมดาที่จังหวัดปราจีนบุรี
ผนังด้านนอกเป็นปูนปั้นลายพฤกษาประดับซุ้มประตูและหน้าต่าง มุขด้านหน้ามีซุ้มดอกไม้ประดับและรูปภาพเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ภายในห้องโถงเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ต่างขมีขมันกันจัดเก็บสถานที่-ที่เสร็จจากกิจกรรมอบรม สัมนาวิชาการแพทย์แผนไทยให้กลับมาสู่ปกติ ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านมานับร้อยปี แม้อาคารที่เคยเป็นพำนักสถาน จะถูกปรับเปลี่ยนสถานะให้เป็นโรงพยาบาลรักษาผู้คนและปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และพัฒนาด้านการแพทย์แผนไทยที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีการวิจัย พัฒนา และผลิตยาสมุนไพร
หากมองย้อนไปถึงอุปนิสัยส่วนตัว เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ท่านชอบประกอบอาหารรับประทานด้วยตนเอง โดยมากจะเป็นอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพร จนกลายเป็นตำรับตกทอดมายังลูกหลานภายในตระกูล “อภัยวงศ์” เจ้าพระยาอภัยภูเบศรป่วยด้วยโรคเบาหวานถึงแก่อสัญกรรมที่เมืองปราจีนบุรี
เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ สิริอายุ ๖๑ ปี ๒๙ วัน ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ บริจาคทรัพย์สินในการสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และที่สำคัญคือเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างและออกแบบในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแก้วพิจิตรที่เมืองปราจีนบุรี นับเป็นวัดประจำสกุล “อภัยวงศ์”
ผมจึงถือโอกาสระหว่างรอบรรดาลูกค้าผู้มาเยือนออรอซื้อผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรที่หน้าเคาน์เตอร์ร้านขายยาไทยต้นแบบโพธิ์เงิน-อภัยภูเบศร โอสถ เดินดูข้าวของเครื่องใช้ในทางการแพทย์ที่จัดแสดง พร้อมคำอธิบายความเป็นมา ก่อนจะกลับมาอีกครั้ง
“รับยาอะไรดีคะ?” เจ้าหน้าที่ที่ยืนอยู่หลังเคาน์เตอร์เอ่ยถามขณะที่ผมกำลังพิจารณาว่าจะซื้ออะไรดี “เบาหวาน เจ้าพระยาอภัยภูเบศรป่วยด้วยโรคเบาหวานและเราก็เป็นเบาหวาน” คิดได้ดังนั้นจึงชี้ไปยังขวดบรรจุยา
“คุณลูกค้าคะ น้ำตาลเท่าไหร่ กินยาแผนปัจจุบันหรือไม่?”
“มากกว่ากินคือฉีดอินซูลินเช้า-เย็นครับ”ผมตอบ
“งั้นแนะนำให้กินควบคู่กันไปอย่าให้ขาดหรือเลิกยาแผนปัจจุบัน”
เป็นเรื่องน่าแปลกถ้าหากคุณเข้าพบคุณหมอในโรงพยาบาลแพทย์แผนปัจจุบัน คุณหมอจะถามว่ากินยาอะไรนอกเหนือที่ให้ไปหรือไม่และไม่แนะนำให้กินยาชนิดอื่น? แต่ที่โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยกลับให้คำแนะนำที่มีทางเลือก
ขณะเดินออกจากตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในมือถือถุงกระดาษใส่ขวดยา ก็หวังแต่เพียงว่าตัวยาสรรพคุณสมุนไพรจะช่วยบำบัดรักษาประวิงเวลาให้มีชีวิตอยู่ดูโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงวัย ธรรมดาที่เราควรจะกดปุ่มบันทึกภาพสวนไม้ดอกประดับ อนุสาวรีย์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และฉากหลังที่มีอาคารสถาปัตยกรรมแบบบาโรก วัฒนธรรมจากโลกตะวันตกที่แผ่ขยายเข้ามาในห้วงเวลาของการล่าอาณานิคม บางทีพิพิธภัณฑ์อภัยภูเบศร อาจจะเป็นอนุสรณ์สถานแห่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่เสียสละเพื่อความอยู่รอดของชาติบ้านเมืองและก็ยังเป็นสถานพยาบาลรักษาผู้คน หากยุคสมัยปัจจุบันความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนสร้างความวุ่นวายให้กับประเทศชาติและผู้คนทุกย่อมหญ้า
ลมหอบใหญ่พัดผ่านมา กลิ่นอายดินเคล้ากลิ่นฝนโชยแตะจมูก ชวนให้นึกถึงภาพหยดน้ำฝนที่ตกลงในป่า ไหลรวมกันเป็นลำธาร-ธารน้ำไหลตกกระทบโขดหิน อืมม์…ใช่เลยผมได้คำตอบให้กับตัวเองหลังขบคิดอยู่นานว่า“จะไปไหนต่อ?”
อ่านเรื่องราว: โรงพยาบาลเจ้าพระอภัยภูเบศร ได้ตามลิ้งค์
‘ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร’ ๑๑๔ ปีเปิดให้เข้าชมแล้วหลังปิดซ่อมงบกว่า๒๘ ล้านบาท.. https://www.matichon.co.th/local/news_4161007
ตำนานอภัยภูเบศร เล่าขานตำนานแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
https://www.museumthailand.com/th/3294/storytelling/ตำนานอภัยภูเบศร/
เปิด“ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” 23 ต.ค.นี้ รับนักท่องเที่ยวชมสถาปัตยกรรม https://www.thansettakij.com/lifestyle/499833
พิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร สืบสานตำนานแพทย์ อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่: https://www.posttoday.com/lifestyle/216117
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร : https://www.cpa.go.th/about
“ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” พระตะบอง-ปราจีนบุรี ตึกแฝดพี่-น้อง ของเจ้าเมืองผู้จงรักภักดี:https://mgronline.com/travel/detail/9670000010647