The art of Life by สุชาติ ชูลี
บ่ายวันฝนตกกับบางขณะที่นั่งเปิดไฟล์ภาพถ่าย หลายที่หลายแห่งที่ได้เดินทางไป เลื่อนเม้าส์มาหยุดโฟลเดอร์ภาพบันทายฉมาร์ คลิ๊กเข้าไปดูภาพเหล่านั้นเห็นแล้วก็รู้สึกประทับใจในความเชื่อและศรัทธาของคนโบร่ำโบราณ แน่ละอะไรหลาย ๆ อย่างในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย งานบางชนิดถูกทดแทนด้วยปัญญาประดิษฐิ์ เครื่องจักรกลสิ่งอำนวยความสะดวก รวดเร็ว ที่สำคัญมันกำลังคุกคามบางอาชีพให้หายไปจากสารบบ แต่งานบางงานก็ยังต้องพึ่งพาความรู้ความสามารถที่ได้รับการสืบทอดส่งต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
ผมถ่ายภาพเหล่านี้ไว้ในเช้าวันหนึ่งต้นฤดูฝนที่ผมได้ข้ามพรมแดนไทย ไปเที่ยวชมปราสาทบันทายฉมาร์ ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา ระยะทางประมาณ ๖๐ กิโลเมตรจากอ.อรัญประเทศ จ.สระแก้วไป“ปราสาทบันทายฉมาร์” หรือ “บันเตียฉมาร์” (Banteay Chhmar) ในภาษาเขมรแปลว่า “ปราสาทน้อย” หรือ “ป้อมเล็ก” ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ศาสนสถานที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสร้างขึ้นเพื่อเก็บอัฐิของพระโอรสคือ “เจ้าชายศรินทรกุมาร”(ศรีนทรกุมาร) ที่ทรงสิ้นพระชนม์จากการทำสงครามในบริเวณนี้
เป็นเรื่องที่น่าคิดว่ายุคสมัยนั้น ทั้งอุปสรรคของแหล่งหิน การขนส่งหินที่มีน้ำหนักมาก โครงสร้างที่ต้องแข็งแรง ทนทาน และการแกะสลักลวดลายภาพที่ซับซ้อน หากมิได้สองมือจากความสามารถและความมุ่งมั่นของมนุษย์ ใจและกายที่มีศรัทธาเป็นกำลังในการสร้างสิ่งมหัศจรรย์ต่าง ๆ มากมาย ที่ยืนยงมานับหลายร้อยปีแม้จะปรักหักพังลงไปบ้างตามกาลสมัย
เสียงสิ่วที่กระแทกลงบนผนังหิน ดังเป็นระยะ ๆ รถเครนกำลังยกชิ้นส่วนเพื่อบูรณะกำแพงหินทรายให้สมบรณ์ ใกล้ ๆ กันมีภาพสลักพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสูงสุด ตามคัมภีร์การัณฑวายุหสูตร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรพันมือ ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพสลักที่โดดเด่นที่สุดในปราสาทบันทายฉมาร์ ภาพนี้มักจะพบเห็นได้ในปราสาทขอมหลายแห่ง และมีความหมายทางศาสนาและปรัชญา
ด้านความเมตตาและการช่วยเหลือ จำนวนมือที่มากมายของพระโพธิสัตว์แสดงถึงพลังอำนาจที่ไม่มีที่สิ้นสุด สามารถช่วยเหลือผู้คนได้อย่างทั่วถึง พระโพธิสัตว์พันมือยังเป็นสัญลักษณ์ของความรู้และปัญญาอันล้ำลึก เพราะพระองค์ทรงเข้าถึงความจริงของชีวิตและสามารถช่วยให้ผู้คนหลุดพ้นจากความทุกข์ ทว่าสำหรับผมแล้วด้วยสองมือของมนุษย์ ด้วยจิตใจที่มีศรัทธามั่นปราสาทบันทายฉมาร์
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรพันมือ ซุ้มประตูหรือโคปุระ จนถึงตัวปราสาทหลัก ทับหลัง หน้าบัน นางอัปสรา พระศิวะ พระวิษณุ พระพรหม เทวดา ครุฑ ฤๅษี พราหมณ์ และพระพุทธเจ้ารวมทั้งเรื่องราวอันทรงคุณค่าเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น
เหล่าช่างแกะสลักหินกำลังง่วนอยู่กับการแกะสลักลวดลายภาพนูนต่ำลงบนแผ่นหินทราย สภาพอากาศร้อน ๆ อบอ้าว ฝุ่นละอองฟุ้งกระจายแม้จะมีผ้าปิดใบหน้าก็อดรู้สึกแสบคอ แสบจมูกเสียไม่ได้ แม้จะผ่านพ้นมานับร้อยนับพันปี ผ่านห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งของคนในชาติเดียวกัน หากแต่สองมือของคนรุ่นหลังที่ยังเห็นคุณค่าของศิลปะแห่งการสลักภาพนูนต่ำลวดลายต่าง ๆ ลงบนแผ่นหินทรายยังคงต่อลมหายใจให้บรรพบุรุษและหล่อเลี้ยงชีวิตพวกเขา ศิลปะแห่งการดำรงชีวิตด้วยด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย ภูมิความรู้ที่สั่งสมและสืบสานกันมาหลายชั่วอายุ
ฝนซาแล้วแต่เมฆฝนยังแผ่คลุมไปทั่วบริเวณคลองสาม ในวันฟ้าหม่นที่อยากฝังตัวอยู่ในบ้าน แต่การเดินทางของความคิดช่างไปไกลเสียเหลือเกิน…
อ่านเรื่องราวปราสาทบันทายฉมาร์ สามารถคลิ๊กลิ้งค์อ่านได้ด้านล่างนี้
รูปเทวบุคคลบนพระเกศา พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 : ภาพสลักที่ปราสาทบันทายฉมาร์ : https://www.silpa-mag.com/history/article_7218 : https://www.silpa-mag.com/history/article_7218
ผจญภัยในหมู่มหาปราสาทบันทายฉมาร์และปราสาทบริวาร ประเทศพระราชอาณาจักรกัมพูชา ตอนที่ ๑ ปราสาทบริวารแห่งมณฑลของระบบปราสาทบันทายฉมาร์ (Mandala of Banteaychhmar Temple) : https://travel.trueid.net
ความลับหลังกำแพงศิลาบันทายฉมาร์-สมโบร์ไพรกุก-เสียมราฐ… อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/prachachuen/prachachuen-scoop/news_1104811 :https://www.matichon.co.th
Patricia, USA 2022 06 27 12 22 01 priligy prescription 2 KTR EBV infection