Travel like the wind :สุชาติ ชูลี
ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเต็มไปด้วยเรื่องราวการเดินทางข้ามทวีป ข้ามมหาสมุทร และข้ามวัฒนธรรม การย้ายถิ่นฐานคือปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของผู้คนจากหลายที่หลายแห่ง อันเกิดจากภัยธรรมชาติ สงคราม และความขัดแย้งภายในประเทศ จึงเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนต่างอพยพไปสู่ดินแดนแห่งความหวัง เฉกเช่นเดียวกับซามูไรผู้ทำหน้าที่หามเสลี่ยงให้กับ “โอคุโบะ จิเอมอง” เจ้าแห่งแคว้น “ซุนชู” ก่อนจะตัดสินใจเดินทางออกจากญี่ปุ่นเพื่อมาแสวงโชค ณ มหานครที่แม่น้ำสามสายล้อมรอบ ได้แก่ แม่น้ำป่าสักทาง, แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำลพบุรี
เดิมทีบริเวณนี้ไม่ได้มีสภาพเป็นเกาะหากแต่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงดำริให้ขุดคูเชื่อมแม่น้ำทั้งสามสาย เพื่อให้เป็นปราการธรรมชาติป้องกันข้าศึก ทั้งยังเป็นที่ตั้งกรุงศรีอยุธยาซึ่งอยู่ห่างจากอ่าวไทยจึงเป็นศูนย์กลางการค้ากับชาวต่างประเทศ และเป็น “เมืองท่าตอนใน”
บันทึกประวัติศาสตร์ ได้บอกเล่าถึงซามูไรผู้ทำหน้าที่หามเสลี่ยงตัดสินใจออกเดินทางมาสู่ราชธานีเมืองอโยธยาหรืออโยธยาศรีรามเทพนคร มาเป็นพ่อค้าที่ชื่อยามาดะและทหารอาสาจนหน้าที่การงานรุ่งเรืองได้รับความไว้วางใจจากพระมหากษัตริย์ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในราชสำนัก ผู้นำก่อตั้งชุมชน หมู่บ้านญี่ปุ่นศาสนสถาน ทว่าในดีย่อมมีร้ายและบั้นปลายของเขาก็มีช่วงชีวิตที่ยากลำบาก จนกระทั่งเสียชีวิตขณะดำรงสถานะฐานะเจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช
ปัจจุบันยุคสมัยแห่งการเดินทางสะดวกสบาย ย่นระยะเวลา พรหมแดน อาณาเขต แม่น้ำมิได้เป็นอุปสรรค ขอบฟ้าก็มิอาจขวางกั้นอีกฟากฝั่งแห่งความหวัง หรืออัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์จึงเป็นแค่เพียงกรอบความคิดที่กั้นขวางความเป็นสากลของมนุษย์ ขณะยืนมองดูภาพวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่สักการะไหว้ในศาลเจ้า บางพื้นที่ก็มีป้ายห้ามบันทึกภาพ หากสิ่งที่เห็นและจดจำได้ดีคือความศรัทธาไม่สูญสิ้น ตราบใดที่มนุษย์มิอาจข้ามพ้นห้วงแห่งความทุกข์ โชคชะตากับความหวังแม้จะเกิดขึ้นภายในจิตส่วนลึกหากต้องมีหลักยึดเหนี่ยว และสายน้ำก็มีส่วนชำระล้างสิ่งมลทิน
เรื่องราวของซามูไรหามเสลี่ยง ได้นำพาชีวิตไปสู่จุดสูงสุด มีอนุสาวรีย์ตั้งตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าฟากฝั่งแห่งความหวังนั้นจะต้องพบพานกับสิ่งใด ในยุคที่เหล่านักเดินทางมากมายต่างฝ่ายต่างโบยบินข้ามฟากฝั่งแห่งตน เพื่อเยี่ยมเยือน พำนัก ได้เรียนรู้ในดินแดนที่ห่างไกล และแสงแดด สายลม สายน้ำก็ยังคงทำหน้าที่เชื่อมโยงถึงกันเป็นสายธารแห่งการหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต.
อ่านบทความที่เกี่ยวกับ : ออกญาเสนาภิมุข ยามาดะ นางามาซะ และหมู่บ้านญี่ปุ่น