Travel like the wind :สุชาติ ชูลี.

บนเส้นทางถนนที่มุ่งสู่กรุงเทพมหานคร ขณะที่ผมกำลังขับรถไปใจก็คิดว่าจะแวะเวียนที่ไหนอีกสักแห่งดี  มองป้ายบอกเส้นทางที่กำลังจะเข้าสู่จังหวัดชัยนาทและอีกจังหวัดถัดไปคือสิงห์บุรี ใจหนึ่งก็อยากจะแวะเวียนที่สวนส้มโอพันธุ์แตงกวาที่ชัยนาท อย่างน้อยก็ซื้อส้มโอมาเปิดทายขายที่ตลาดแถวบ้าน แต่ด้วยความที่ไม่ค่อยจะชอบค้าขายสักเท่าไหร่ ผมจึงเหยียบคันเร่งรถคู่ใจผ่านไปยังอีกจุดหมายอย่างน้อยก็ได้เห็นกับตาของตนเองมากกว่าจะท่องไปในโลกเสมือนและอ่านข้อมูลดูรูปภาพ บ่ายสี่โมงกว่าตะวันเริ่มคล้อยลงต่ำบนเส้นทางหลวงหมายเลข ๓๒๕๑ (สายสิงห์บุรี-บางระจัน-สรรคบุรี)กับป้ายบอกทางอีกไม่ไกลผมก็จะมาถึงจุดหมาย ที่ว่ากันว่าพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหญ่ในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น “แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย” ที่พบร่องรอยเตาเผาโบราณกระจายตัวตามแนวลำแม่น้ำน้อยตลอดระยะ ๒ กิโลเมตรมีจำนวนมากกว่า ๒๐๐ เตา 

แต่ความเปลี่ยนและพัฒนาการแต่ละยุคสมัยจึงทำให้เตาส่วนใหญ่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา บ้างก็ถูกทำลายจากการขุดคลองชลประทานและการก่อสร้างถนน 

จะว่าไปสยามหรือเมืองไทยนั้นมีแหล่งเตาเผาโบราณอีกมากมายหลายแห่ง นับตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีก็มีเมืองศรีสัชนาลัย ที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมเครื่องสังคโลกอันเลื่องลือ ล่วงมาสู่ความเฟื่องฟูของราชอาณาจักรลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา-กรุงศรีอยุธยาที่มีการติดต่อ ค้าขายกับนานาอารยะประเทศ และหนึ่งในสินค้าสำคัญก็คือถ้วย โถ โอ ชาม เครื่องใช้ในครัวเรือน

“คุณมาถึงแล้ว” เครื่องมือนำทางสมัยใหม่บอกจุดหมายปลาย ผมจอดรถที่ลานจอดแล้วเร่งเดินเข้าไปยังส่วนบริการให้ข้อมูล ในขณะที่เจ้าหน้าของพิพิธภัณฑ์ทยอยเก็บข้าวของใช้ส่วนตัว เพราะใกล้ถึงเวลาปิดทำการ แต่ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงมาต้อนรับและนำทาง ให้คำแนะนำและเล่าเรื่องราวเตาเผาที่บางส่วนถูกทำลายทั้งทางธรรมชาติและพัฒนาการของชุมชน สังคม เมือง จากแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีเตาเผาเรียงรายอยู่ไปทั่วบริเวณ บางแห่งอาจถูกฝังอยู่ใต้ผิวถนน บางแห่งอาจจมอยู่ใต้คลองชลประทานและบริบทของชุมชนที่เปลี่ยนไป เดินชมเตาเผาได้สักพัก ผมจึงถือโอกาสลาเจ้าหน้าที่แล้วเดินไปยัง วัดพระปรางค์ศาสนสถานเก่าแก่ซึ่งสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๑๔ – ๑๙๒๑ ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ยกทัพไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือในความปกครองของสุโขทัย กวาดต้อนผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่างเตาเผา,ชาวจีนและช่างปั้นอพยพมาตั้งรกรากอยู่บริเวณนี้   

458487748 497583889697457 7765408838313800284 n

ลักษณะของเตาเผาแม่น้ำน้อยเป็นเตาเผาขนาดใหญ่ ระบายความร้อนเฉียงขึ้น ก่อด้วยอิฐตัวเตาบางส่วนคล้ายเรือประทุนจึงเรียก “เตาประทุน” แบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ ปล่องไฟ ห้องวางเครื่องปั้นดินเผาและห้องเชื้อเพลิง กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ตัวเตาเผาแม่น้ำน้อยมีขนาดใหญ่มากที่สุดมีความยาวถึง ๑๔ เมตร กว้าง ๕.๖๐ เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางของปล่องควันไฟยาว ๒.๑๕ เมตร ผลิตภาชนะดินเผา อาทิ ไห อ่าง ครก กระปุก ช่อฟ้า กระเบื้องปูพื้น  เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นไหสี่หู ครก โอ่งอ่าง กระปุกใส่ปูน ขวดปากแตรทรงสูง เครื่องประกอบสถาปัตยกรรมจำพวกกระเบื้องปูพื้น กระสุนดินเผาขนาดต่างๆ เป็นแบบผลิตเพื่อใช้ในเขตพระราชฐาน

วัน เวลา เคลื่อนไป ตามกาลสมัยเมื่อมีจุดเริ่มต้น รุ่งเรืองสูงสุด สู่สามัญ ในขณะที่ลมหายใจของมรดกที่ตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แรงงานผู้ชำนาญช่างศิลป์พื้นถิ่นนับวันน้อยลง ยิ่งในยุคสมัยที่โลกเสมือนกำลังเคลื่อนย้ายสินค้าราคาถูกมาแทรกแซงจนสินค้าที่ผลิตในเมืองไทยค่อย ๆ ทยอยปิดตัว

ทว่าสิ่งที่ยังเหลืออยู่คือซากปรักหักพัง เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สะท้อนเงาอดีตอันรุ่งเรือง หลังจากได้ทั้งความรู้และเพลิดเพลินอยู่กับศาสนสถานที่มีฝูงนกโบย บินวนเวียนก่อนถลาลงเกาะบนหลังคาหรือปราสาทและต้นโพธิ์เสมือนกับว่าพวกมันกำลังส่งสารให้ผมกลับบ้านซะที.

ข้อมูลเตาเผาแม่น้ำน้อยโดยย่อ 

ปัจจุบันกรมศิลปากรได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์เตาแม่น้ำน้อย เป็นอาคารขนาดใหญ่เชื่อมต่อกันสองหลังโดยหลังแรกเป็นอาคารโปร่งโล่ง มีเตาเผาจำนวน ๒ เตา สามารถเดินชมโดยรอบเตาเผาได้มีนิทรรศการให้ข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษส่วนอาคารหลังที่ ๒ จัดแสดงแบบจำลองเตาเผาแม่น้ำน้อย และตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาที่มีการขุดค้นพบในแหล่งนี้  แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญยังเป็นศูนย์ศึกษาทางวิชาการเซรามิคอันยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๗.๐๐ น.

การเดินทาง ด้วยรถยนต์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๒๕๑ (สายสิงห์บุรี-บางระจัน-สรรคบุรี) ขับไปประมาณ ๑๖ กิโลเมตรเมื่อเลยตลาดชัณสูตร ไปประมาณ ๑กิโลเมตร ก็จะถึงแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย

เตาเผาแม่น้ำน้อยเป็นเตาเผาขนาดใหญ่ ระบายความร้อนเฉียงขึ้น ก่อด้วยอิฐตัวเตาบางส่วนคล้ายเรือประทุนจึงเรียก “เตาประทุน” แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ปล่องไฟ ห้องวางเครื่องปั้นดินเผาและห้องเชื้อเพลิง กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ การผลิตสินค้าประเภทถ้วยชาม 

อ่านลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง

https://www.singburi.go.th/_2017/travel_top/detail/3

https://www.museumthailand.com/th/4257/storytelling/เตาเผาแม่น้ำน้อย

https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/319