บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ รินทร์
นานมาแล้วที่ผมมิได้เขียนบันทึกคนหลงทางที่เป็นเรื่องราวใหม่ ๆ อาจเป็นเพราะห้วงเวลาของโรคระบาดในหลายปีที่ผ่านนั้นทำให้ต้องอยู่เหย้าเฝ้าเรือนซะมากกว่า ครั้นถึงเวลาที่โรคร้ายค่อย ๆ คลี่คลายประตูสู่โลกแห่งการเรียนรู้ จากสิ่งที่ได้เห็น สัมผัสรอยยิ้มและแววตาสงสัยของคนในพื้นที่-ที่เห็นหนุ่มวัยกลางคนไว้หนวด เคราและที่สำคัญคือสะพายเป้ใบใหญ่ไว้ข้างหลัง บางครั้งก็ได้ยินเสียงซุบซิบ(แบบให้ได้ยิน) “วันก่อนไอ้หมอนี่ก็มาแล้ว? ทำไมวันนี้มาป้วนเปี้ยนแถวนี้อีกหรือมันจะมา…?!”
ไม่ทันที่พวกเขาจะคิดไกลไปมากกว่านั้น หากจะนับข้อดีที่มีติดตัวมาตั้งแต่ทำงานอยู่ในแวดวงคนบริการ ยิ้มและยกมือไหว้ทักทายด้วยมิตรภาพ มันคือสิ่งที่ได้มาจากประสบการณ์และการบ่มเพาะมายาวนาน จนเป็นความเคยชินและนั่นจึงทำให้ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของเรือนไทยที่กำลังทรุดโทรมไปตามกาล ยิ่งได้ฟังผู้เป็นเจ้าของบ้านบอกเล่าภาพในวันวานของบ้านหลังนี้ นับตั้งแต่แบเบาะ เจริญวัย เติบโต ทำงานในโรงงานกระทั่งปัจจุบันเกษียนอยู่กับ “บ้าน” คำสั้นๆ ที่มิต้องแปลหรือตีความหมายอะไรให้มากนัก ยิ่งมองลึกเข้าไปนัยน์ดวงตาของ “คุณลุงดำ”ก็ยิ่งรับรู้ได้ถึงความผูกพัน
อันที่จริงผมเองก็ผ่านไปผ่านมาแถบนี้อยู่บ่อยๆ แต่ไม่เคยได้เข้ามาเป็นคนแปลกหน้าของคนในชุมชนละแวกนี้ ใกล้เคียงสุดก็มานั่งกินก๋วยเตี๋ยวเรือและให้อาหารปลาที่ศาลาท่าน้ำวัดสวนมะม่วงเมื่อหลายปีก่อน จากข้อมูลชุดความรู้ที่ได้จากการอ่านอะไรไปเรื่อยเปื่อยก็ทำให้อยากรู้อยากเห็นว่าถิ่นฐานย่านนี้ที่ว่ากันว่าก่อนนั้นมีรั้วรอบขอบเขตของชุมชนดั้งเดิมมาตั้งแต่สมัยอโยธยา(ก่อนกรุงศรีอุยธยา) ดังปรากฏในโคลงกำศรวลสมุทร ที่กล่าวถึงทุ่งพญาเมืองซึ่งกลายเป็นเมืองร้างไปแล้ว
๒๗จากมาเรือร่อนท้ง | พญาเมือง |
เมืองเปล่าปลิวใจหาย | น่าน้อง |
จากมาเยียมาเปลือง | อกเปล่า |
อกเปล่าว่ายฟ้าร้อง | ร่ำหารนหา |
เวลาดำเนินไปตามครรลองของการเปลี่ยนแปลง สิ่งต่าง ๆ ที่เคยรุ่งเรืองก็สูญสลายเลือนหายไปและจากการสำรวจเมืองโบราณที่ทุ่งพญาเมืองและท่าเสด็จโดยนักวิชาการท้องถิ่นหลายท่าน ทั้งอาจารย์ทองคำ พันนัทธีและอาจารย์วีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย ที่เขียนผังบริเวณไว้อย่างคร่าวๆ ซึ่งพอจะเห็นว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีการขุดคูน้ำคันดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในเมืองมีแนวคูน้ำเป็นแนวตัดกันเป็นตาราง คูเมืองภายนอกเชื่อมต่อกับคลองธรรมชาติที่ปากคลองกับลำน้ำเจ้าพระยาเดิมหรือคลองวัดบ้านพร้าวในปัจจุบันและบริเวณนี้มีการทำ “ทำนบ” เป็นแนวคันดินยาวขวางลำน้ำหลายแห่งน่าจะใช้สำหรับการทดน้ำ ทำนา (ทองคำ พันนัทธี: ๒๕๒๗)
ทุกแห่งหนย่อมมีเรื่องราวและมีที่มาในขณะเดียวกันทุกย่างก้าวย่อมมีสิ่งดีงามและการค้นพบ นานมาแล้วที่ความรู้สึกอยากเขียนบันทึกคนหลงทางนั้นห่างหายไปจากความรู้สึก แต่ในวันฝนพรำกับรอยยิ้มของคุณลุงดำ เมื่อมองไปฝาบ้านโดยรอบแทบไม่มีรูปภาพ ไม่มีอะไรให้ต้องห่วงกังวล บางทีการย่ำไปในเส้นทางที่เราต่างไม่รู้อะไรเลย ต้องใช้ใจเปิดใจนำไปสู่มิตรภาพ สำหรับผมแล้วเท่านี้ก็เพียงพอ.