บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ รินทร์

“ขอยึดผืนแผ่นดินนี้เป็นจุดจบของการเดินทางครั้งสุดท้าย”หมู่นางรำที่ได้รับการฝึกฝนมาตั้งแต่วัยเด็กรำฟ้อนนำขบวนจำลองการอพยพของชาวไท-ยวน เมื่อครั้งอดีต เดินทางไปยัง โยนกอุทยาน ท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ ของจังหวัดสระบุรีสวนสาธารณะริมแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีตักน้ำพลีกรรม ชาวไทยวน สถานที่ต้อนรับบายศรีสู่ขวัญและกินข้าวแลงขันโตกพร้อมด้วยการแสดงแสงสีเสียง

ย้อนไปก่อนปีพุทธศักราช ๒๓๔๗ “โยนกเชียงแสนนคร”ที่มีความเจริญรุ่งเรืองไปด้วยศาสตร์ศิลป์แขนงต่างๆ มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจการค้าขาย แต่แล้วสิ่งเหล่านั้นอันตรธานหายไปจากภัยสงคราม สงครามที่กำหนดการยึดครองโดยผู้มีชัยชนะ ส่วนผู้พ่ายแพ้หากไม่ยอมศิโรราบก็ต้องอพยพหลบหนี เฉกเช่นเดียวกับโยนกเชียงแสนนครและอาณาจักรล้านช้างตกอยู่ในอุ้งมือของพระเจ้าบุเรงนอง ตั้งแต่ปี พ.ศ ๒๑๐๑ กระทั่งปี พ.ศ. ๒๓๔๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพเมืองหลวง น่าน ลำปาง เชียงใหม่และเวียงจันทร์ ยกทัพไปขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสนพร้อมกันนั้นได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เคลื่อนย้ายชาวเชียงแสนทั้งหมดโดยแบ่งให้กองทัพทั้งห้า ไปไว้ ณ เมืองน่าน ลำปาง เชียงใหม่และเวียงจันทร์ บางส่วนติดตามกองทัพหลวงลงมากรุงเทพตัดสินใจอำเภอเสาไห้ บางส่วนกรุงเทพฯและลงไปถึงราชบุรี

ขอยึดผืนแผ่นดินแถบนี้เป็นจุดสิ้นสุดของการเดินทาง เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ สร้างบ้าน สร้างชุมชนที่มีอัตลักษณ์ สืบสานประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม นานนับหลายสิบปีที่บ้านไม้ทรงไทยริมแม่น้ำป่าสัก ตักศิลาที่บ่มเพาะลูกหลานชาวไทยวนเสาไห้ ได้เรียนรู้รากเหง้าที่มา ผ่านท่วงท่าร่ายรำบทเพลง อาหาร เสื้อผ้าภาษา ภูมิปัญญาดั้งเดิมแห่งตน วันเวลาอาจนำพาความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ทว่ามิอาจลบเลือนความเป็นไทยวน ออกไปได้เลย

“งามล้ำพี่โตย เฮาสืบต่อกันสานใจถิ่นเฮา

รำร้องกี่คราวยังบอกเรื่องราวของเฮาดั้งเดิม

งามล้ำแต่งกายประสาทภายในหัวใจออกมา

กำอู้กำจา บวกกิริยางามตา ใครจะฮักใครจะสืบสานได้ดีเท่าเรา…”

ที่มา:หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

25507889 1807478492618092 4488699426203201881 n