“กะปิต้องกลิ่นไม่แรง รสไม่เค็มโดด เป็นกะปิเคยตาดำ ที่สำคัญคือความเปรี้ยวคงที่ของมะดัน นั้นจะทำให้รสชาติกลมกล่อม แต่สูตรนี้ ไม่ใส่หอมแดง ใช้ไข่เค็มดิบ โดยอ้างอิงต้นตำรับที่เกิดจากความรีบเร่ง ส่วน ‘ผักชี’ เป็นผักเครื่องที่ขาดไม่ได้เพราะตำรับเขียนไว้ว่า ให้เอาเครื่องเคียงทั้งหมดใส่ในถ้วยเดียวกันรวมทั้งผักด้วยโดยเฉพาะผักชี ”

ต้นสายปลายเหตุของน้ำพริกลงเรือนั้นมีที่มาจากวังสวนสุนันทา เมื่อครั้งเจ้านายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ประทับที่วังสวนสุนันทาใหม่ ๆ มีการขุดดินมาถมสร้างพระตำหนักจึงทำให้มีสระน้ำกว้าง รอบอุทยานและพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งแต่ละพระองค์ก็จะมีเรือพายเล่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน ทรงบันทึกไว้ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ ความว่า

“วันหนึ่งตอนค่ำ คิดจะลงเรือเล่นตามคูคลองในเขตอุทยานวังสวนสุนันทา สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล ทรงชักชวนเสวยอาหารกันในเรือ รับสั่งกับคุณจอมสดับว่า ‘สดับ ไปดูซิ ในครัวมีอะไรบ้าง’ เวลานั้นยังไม่ถึงเวลาเสวย ในห้องเครื่อง มีแต่ปลาดุกทอดฟู กับน้ำพริกตำคุณจอมสดับจึงนำมาผัดรวมกับหมูหวาน พอตักขึ้นมาเห็นไข่เค็มที่ยังไม่ได้ต้ม ความเป็นคนคล่องและไว ทิ้งไข่ขาวเอาแต่ไข่แดงดิบวางและจัดผักเตรียมลงมาด้วย กลายเป็นอร่อยมากถึงเรียกน้ำพริกลงเรือ เกิดขึ้นเพราะคุณจอมสดับนี่เอง”

สำรับอาหารชาววังจะมีความพิเศษคือต้องมีความพิถีพิถัน ในการคัดสรรวัตถุดิบ จัดวาง ตกแต่งให้มีหน้าตาสีสันสวยงามชวนรับประทาน เจ้าจอมสดับได้รับถ่ายทอดวิชาการครัวมาจากพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ผู้ดูแลห้องเครื่องต้นในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ซึ่งต้องรู้จักวัตถุดิบ ชิมวัตถุดิบให้รู้รส เพื่อปรับและปรุงผสมให้ไม่จัดจ้าน เน้นความกลมกล่อม  ๓ รส คือ เปรี้ยว เค็ม หวานเสมอกันอาหารแต่ละจานจึงมาจาก ‘รสมือ’

คุณชัยชนะ นิรัญรักษ์ เยาวชนผู้เกิดและเติบโตในชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ จบการศึกษาสาขาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนสุนันทา ต้องการสืบทอดน้ำพริกลงเรือ ฝึกฝนจนส่งเข้าประกวดงานประชุมวิชาการระดับชาติได้รับรางวัลชนะเลิศแห่งประเทศ และนำกลับมาต่อยอดเป็นข้าวคลุกน้ำพริกลงเรือจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ได้เผยถึงเคล็ดลับของ น้ำพริกลงเรือบ้านคลองมหาสวัสดิ์ไว้ว่า

“กะปิต้องกลิ่นไม่แรง รสไม่เค็มโดด เป็นกะปิเคยตาดำ ที่สำคัญคือความเปรี้ยวคงที่ของมะดัน นั้นจะทำให้รสชาติกลมกล่อม แต่สูตรนี้ ไม่ใส่หอมแดง ใช้ไข่เค็มดิบ โดยอ้างอิงต้นตำรับที่เกิดจากความรีบเร่ง ส่วน ‘ผักชี’ เป็นผักเครื่องที่ขาดไม่ได้เพราะตำรับเขียนไว้ว่า ให้เอาเครื่องเคียงทั้งหมดใส่ในถ้วยเดียวกันรวมทั้งผักด้วยโดยเฉพาะผักชี ”

IMG 0621

“ฉันจบการศึกษาจากสาขาด้านอาหารและคหกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จึงอยากนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาต่อยอด อาหารพื้นถิ่นชาวคลองมหาสวัสดิ์ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจภายในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงให้อยู่ดีมีสุข”

คุณชัยชนะ นิรัญรักษ์

นักโภชนาการ โรงพยาบาลบางเลน 

เยาวชนผู้เกิดและเติบโตในชุมชนคลองมหาสวัสดิ์


จากหนังสือ : ตำรับเก่าเล่าเรื่อง ณ เมืองนครชัยศรี
จัดพิมพ์โดย โครงการวิจัยจากเก่าสู่เก๋า นวัตกรรมอาหารไทยโบราณ-มรดกทางวัฒนธรรม ที่ล้ำค่าของมณฑลนครชัยศรี
ผศ.ดร.ศริยามน ติรพัฒน์ : ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย
เรียบเรียง : สุชาติ ชูลี