อนึงเพลาบ่าย ๔ โมงเสท นายนอยตำรวจวังมาสังว่า ด้วยเจาพระยารวิวงษมหาโกษาธิบดีรับพระบรมราชโองการไสเกลาฯ ทรงพระกรรุณาโปรดเกล้าฯ ดำรัษเหนือเกล้า สังวาคลองวัดไชยพฤกษมาลา ขุดทลุออกไปลำแม่นำ เมืองนคอรไชยศรีนั้น ยังหาไดพระราชทานชื่อคลอง บัดนี้พระราชทานชื่อว่า
คลองมหาสวัสดีจะไดคูกับคลองเจดียบูชา
…………………………………………
หมายรับสั่งพระราชทานชื่อคลองมหาสวัสดีและคลองเจดียบูชา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช 
(รัชกาลที่ ๔)
ปี พุทธศักราช ๒๔๐๔ 
(อนึ่งเพลาบ่าย ๔ โมงเศษ นายน้อยตำรวจวังมาสั่งว่า ด้วยเจ้าพระยารวิวงษมหาโกษาธิบดีรับพระบรมราชโองการใส่เกล้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าดำรัสเหนือเกล้าสั่งว่าคลองชัยพฤกษมาลา ขุดทะลุออกไปลำแม่น้ำเมืองนครไชยศรีนั้นยังหาได้พระราชทานชื่อคลอง บัดนี้พระราชทานชื่อคลองว่าคลองมหาสวัสดีจะได้คู่กันกับคลองเจดีย์บูชา ปี พุทธศักราช ๒๔๐๔

IMG 9974 copy

“คลองมหาสวัสดี สายธารแห่งพระราชศรัทธา”  ที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  โปรดเกล้าให้เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค)และพระภาษีสมบัติบริบูรณ์เป็นแม่กอง ในการขุดคลองที่มีความกว้าง ๗ วา ลึก ๖ ศอก โดยเริ่มขุดตั้งแต่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๒ ณ บริเวณวัดชัยพฤกษ์มาลา (ตลิ่งชัน) คลองบางกอกน้อย ไปบรรจบแม่น้ำท่าจีน ริมศาลเจ้าสุบิน ตำบลงิ้วราย มีความยาว ๒๗ กิโลเมตรเศษ

การขุดแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๓ ส่วนเหตุผลสำคัญที่ขุดคลองสายนี้ มีปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๑ ว่า “เพื่อใช้เป็นเส้นทางหลักในการเสด็จพระราชดำเนินไปพระปฐมเจดีย์ และเป็นคลองเปิดที่ให้ เป็นนาสำหรับแจกพระเจ้าลูกยาเธอ”

“ลุถึงศาลากระทรวงในหลวงสร้าง    

ระยะทางทำไว้ไกลหนักหนา

  ถึงร้อยเส้นแล้วจึงมีที่ศาลา              

ให้ประชาจำมั่นสำคัญจร”

อนึ่งในนิราศพระปฐม ที่หลวงจักรปาณี (ฤกษ์) เปรียญ ได้เล่าถึงศาลาต่าง ๆ ที่สร้างขึ้น ทุก ๑๐๐ เส้น โดยทั้งหมดมี ๗ ศาลา จะถูกตั้งชื่อตามหน้าที่ของแต่ละศาลา อาทิ ศาลาที่ทำการเขียนตำราเกี่ยวกับยาก็ได้ชื่อว่าศาลายา “ศาลาทำศพ” ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “ศาลาธรรมสพน์” และอีกหนึ่งศาลาที่ปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นชุมชนแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว “บ้านศาลาดิน” ชุมชนที่ได้ชื่อว่า เป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านตำบลมหาสวัสดิ์

หลังการขุดคลองแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) โปรดให้จับจองที่สองฝั่งคลองให้กับพระราชโอรสพระราชธิดาบริเวณศาลายาและมหาสวัสดิ์ ต่อมาใน ปี พ.ศ. ๒๔๐๕ ทรงพระราชทาน ชื่อ “คลองมหาสวัสดี” หมายความว่า “คลองที่มีความเจริญรุ่งเรืองยิ่ง”

ด้วยวิถีชีวิตของชาวชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ที่เรียบง่ายผูกพันกับสายน้ำ มีวัฒนธรรม ประเพณี มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์  ทั้งยังอุดมไปด้วยสวนผลไม้  นาข้าว นากล้วยไม้และนาบัว จึงทำให้ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในด้านสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมและวัฒนธรรม 

จากสายธารแห่งพระราชศรัทธา สู่สายน้ำที่หลอมรวมวิถีชีวิต เศรษฐกิจการค้าและผลิตผลทางการเกษตร ถูกนำมาแปรรูปเป็นตำรับอาหารพื้นบ้านอันมีอัตลักษณ์และบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนสมดั่งนามพระราชทาน

IMG 0418

จากหนังสือ : ตำรับเก่าเล่าเรื่อง ณ เมืองนครชัยศรี
จัดพิมพ์โดย โครงการวิจัยจากเก่าสู่เก๋า นวัตกรรมอาหารไทยโบราณ-มรดกทางวัฒนธรรม ที่ล้ำค่าของมณฑลนครชัยศรี
ผศ.ดร.ศริยามน ติรพัฒน์ : ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย
เรียบเรียง : สุชาติ ชูลี

ขอบคุณภาพประกอบ : พิพิธภัณฑ์เรือนมหาสวัสดีและหนังสือศาลายาฉายานิทรรศน์