การทำอาหารเป็นสิ่งที่โปรดมาก บ่อยครั้งที่ทำถวายพระเจ้าอยู่หัว ล่าสุดทำข้าวแช่ถวาย พระองค์ท่านก็ทรงโปรด แต่จริง ๆ พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดอาหารฝรั่ง ส่วนพระราชินีทรงโปรดแกงหอง เป็นแกงโบราณสูตรชาววัง ทำจากหมูสามชั้นและหน่อไม้จีน หากมีโอกาสก็จะทำถวายตลอด”
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
วัฒนธรรมอาหารนั้นมีความหลากหลาย อาหารชื่อเดียวกันหรือพ้องกันหากแต่ละบ้านแต่ละท้องถิ่นล้วนมีเคล็ดพิเศษที่แตกต่าง “หมูฮ้อง”ฮ้องเป็นคำจีนฮกเกี้ยน จีนกลางออกเสียงเป็นหง ส่วนแต้จิ๋วเรียกว่าอั้ง แปลว่า “แดง” หมูฮ้อง จึงคือหมู (สี) แดง และชื่อของหมูฮ้อง น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ “แกงหองหรือแกงหงส์”
ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า “น. ชื่อแกงอย่างจีนชนิดหนึ่ง ใช้เนื้อหมูเป็นต้น ต้มกับดอกไม้จีนหรือหน่อไม้แห้งและถั่วลิสง” ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร ได้ระบุในหนังสือกับข้าวสอนลูกหลานว่า “แกงหองนั้นใช้หน่อไม้แห้ง หมูสามชั้น และถั่วลิสงคั่วมาต้มเคี่ยว ใช้เครื่องหอมกระเทียม พริกไทย รากผักชี เต้าเจี้ยว โป๊ยกั้ก…”
ชุมชนวัดท่าพูด คุณสมพิศ นิ่มประยูร ผู้เกิดและเติบโตในชุมชนแห่งนี้ ได้รับการถ่ายทอด “แกงหองหรือแกงหงส์” สูตร ๑๐๐ กว่าปี มาจากคุณยาย
“คุณยายบอกว่าเป็นสูตรชาววังนะคะ เพราะว่าคุณยายเป็นแม่ครัวประจำวัดท่าพูด เคล็ดลับหมูหงส์ชุมชนวัดท่าพูดจะต่างกับที่อื่น เพราะส่วนมากเขาจะทำคล้ายหมูต้มเค็มแล้วก็ใส่ถั่ว ใส่หน่อไม้หรือว่าใส่ดอกไม้จีน แต่สูตรของคุณยายนั้นมีปลาฉลาดคั่วตำละเอียดใส่เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติม”
จากรากของคำว่า “ฮ้อง” สื่อถึง มงคลของสีแดงอันมีที่มา แม้ชื่อและหน้าตาของอาหารโบราณชนิดนี้จะมีส่วนที่คล้ายกัน หากในกรรมวิธีการทำและเคล็ดลับส่วนประกอบต่างมีอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นคือมนต์เสน่ห์แห่งปลายจวักที่อนุชนคนรุ่นหลังควรอนุรักษ์และสืบสานกันต่อไป
“คนรุ่นใหม่ส่วนมากคนเขาไม่ทำกัน เพราะขั้นตอนการทำยุ่งยาก อยากให้มีการสืบสานหมูหงส์ตำรับชุมชนวัดท่าพูด กันนะคะ”
คุณสมพิศ นิ่มประยูร
จากหนังสือ : ตำรับเก่าเล่าเรื่อง ณ เมืองนครชัยศรี
จัดพิมพ์โดย โครงการวิจัยจากเก่าสู่เก๋า นวัตกรรมอาหารไทยโบราณ-มรดกทางวัฒนธรรม ที่ล้ำค่าของมณฑลนครชัยศรี
ผศ.ดร.ศริยามน ติรพัฒน์ : ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย
เรียบเรียง : สุชาติ ชูลี
ภาพ : ศรยุทธ รุ่งเรือง