เรือนไม้ทรงปั้นหยาเรียงรายริมฝั่งแม่น้ำนครชัยศรี แม้จะมีสภาพเก่าแก่และบางหลังชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา หากแฝงไว้ซึ่งภาพสะท้อนอดีตอันรุ่งโรจน์ของชุมชนเขมรที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเมืองนครชัยศรี ตั้งแต่ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ครั้งเจ้าพระยาบดินทร์เดชาทำศึกสงครามกับเมืองเวียงจันทน์และเขมร ได้เทครัวลาวมาตั้งชุมชนบริเวณวัดกลางคูเวียง วัดสัมปทวนและวัดสัมปตาก ส่วนเขมรนั้นให้เทครัวมาอยู่บริเวณวัดแค (เดิมชื่อวัดกัมพูชาราม) ในช่วงเวลาเดียวกันชาวจีนก็เริ่มมีการอพยพเข้ามาเมืองนครชัยศรีบ้างแล้ว
กระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดให้ขุดคลองเพื่อใช้ในการสัญจรและขนส่งสินค้า แรงงานชาวจีนจึงอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้นและบางส่วนก็แต่งงานกับคนเชื้อสายเขมร ทำมาค้าขายจนขยายเป็นตลาดต้นสน จากที่มาบ้านเขมรที่ปรากฏชื่อสถานีรถไฟบ้านเขมร ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีนครชัยศรี มีชื่อบ้านเขมรในแผนที่กรมแผนที่ทหารออกสำรวจเมืองนครชัยศรี ปี พ.ศ. ๒๔๕๗
แม้ปัจจุบันเค้าลางดั้งเดิมของชาวเขมรจะกลืนกลายกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง หน้าตา ภาษาพูดและขนบธรรมเนียมประเพณีหลายสิ่งเลือนหาย แต่บางสิ่งที่สืบสาน ผสมผสานจนเป็นพหุวัฒนธรรมที่หลากหลาย ดังจะเห็นได้จากภูมิปัญญาตำรับอาหารพื้นบ้านพื้นถิ่นที่ยังคงอยู่คู่ชุมชนบ้านเขมรตราบทุกวันนี้
“วัดแค” มีชื่อเดิมว่า “วัดกัมพูชาราม” ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามเชื้อชาติของผู้อยู่อาศัยในบริเวณนี้ ซึ่งเป็นชาวกัมพูชา มีลักษณะความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรม ก็คือ เครื่องยอดของหลังคาโบสถ์เป็นรูปมังกร ช่อฟ้า ใบระกา หางหงษ์ มังกรจีนนี้เลื้อยขดอยู่ที่ปลายสุดของสันหลังคาทั้งสองด้าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการใช้ศิลปกรรมแบบจีน นอกจากนั้นบริเวณหน้าบันของวิหารยังมีเครื่องถ้วยชามลายครามประดับ จึงสันนิษฐานได้ว่า วัดแคสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓)
จากหนังสือ : ตำรับเก่าเล่าเรื่อง ณ เมืองนครชัยศรี
จัดพิมพ์โดย โครงการวิจัยจากเก่าสู่เก๋า นวัตกรรมอาหารไทยโบราณ-มรดกทางวัฒนธรรม ที่ล้ำค่าของมณฑลนครชัยศรี
ผศ.ดร.ศริยามน ติรพัฒน์ : ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย
เรียบเรียง : สุชาติ ชูลี
ภาพประกอบ:ศรยุทธ รุ่งเรือง
cialis with priligy List of Kebirzol substitutes brand and generic names