เนื่องจากบริเวณชุมชนทรงคนอง มีศาลตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำท่าจีน งานประจำปีของศาลเจ้าแต่ละแห่งจะมีเทพเจ้าเข้ามาร่วมแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เจ้าจะคึกคะนองประลองฤทธิ์ จนเป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้านทั่วไป จึงเป็นที่มาของชื่อ ทรงคนอง”

ชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีนไหลผ่านระหว่างกลางของตำบล ด้วยลักษณะของดินที่เป็นดินเหนียวจึงเหมาะแก่การเกษตรกรรมเช่น ทำสวนส้มโอ, ฝรั่ง, มะพร้าว, หมาก อ้างถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) มีชาวจีนล่องเรือสำเภาเข้ามาค้าขาย โดยล่องมาทางแม่น้ำท่าจีน ถึงบริเวณหมู่บ้านเห็นความอุดมสมบูรณ์จึงได้สร้างบ้านเรือน ตั้งชุมชน โดยได้นำขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ ความศรัทธาที่มีการติดต่อกับเทพเจ้า อาทิ มีหลวงพ่อโป๋หลุย, หลวงพ่อซือหู, หลวงพ่อนพมณีได้มาประทับทรง  ที่เรียกว่า “การทรงเจ้า” ในการรักษาโรคภัยต่าง ๆ ให้แก่ชาวบ้านภายในตำบลและพื้นที่ใกล้เคียง 

เนื่องจากบริเวณชุมชนทรงคนอง มีศาลตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำท่าจีน งานประจำปีของศาลเจ้าแต่ละแห่งจะมีเทพเจ้าเข้ามาร่วมแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เจ้าจะคึกคะนองประลองฤทธิ์ จนเป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้านทั่วไป จึงเป็นที่มาของชื่อ “ทรงคนอง”(ทรง-คะนอง) ในหนังสือ “ทำเนียบวัดและพระสังฆาธิการจังหวัดนครปฐม” ได้กล่าวถึง “วัดทรงคนองสร้างขึ้นราว ปี พ.ศ. ๒๒๕๖” สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมามีการค้นพบสมุดข่อยที่อ้างถึงประวัติของผู้สร้างอุโบสถ  

“วัดนี้ แต่เดิมมีพระครูสุข เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดมานานเท่าใดไม่ปรากฏ  เมื่อพระครูสุขมรณภาพแล้ว  บรรดาสิ่งก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ก็ชำรุดทรุดโทรมลงมากจนเกือบกลายเป็นวัดร้าง  ต่อมานายจุ๋ย (จิน) ซึ่งมีเชื้อสายจีนได้มีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างอุโบสถขึ้นมาใหม่หลังหนึ่ง เพื่อใช้แทนหลังเก่า  เสร็จแล้วได้ไปอาราธนาพระภิกษุอิน  ซึ่งอยู่ที่วัดคงคารามมาเป็นเจ้าอาวาส”  จึงสันนิษฐานได้ว่าชุมชนทรงคนองนั้นคงมีมาพร้อม ๆ กับวัดทรงคนอง ชุมชนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ มีประเพณีและวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของชุมชน

จากหนังสือ : ตำรับเก่าเล่าเรื่อง ณ เมืองนครชัยศรี
จัดพิมพ์โดย 
โครงการวิจัยจากเก่าสู่เก๋า นวัตกรรมอาหารไทยโบราณ-มรดกทางวัฒนธรรม
ที่ล้ำค่าของมณฑลนครชัยศรี
ผศ.ดร.ศริยามน ติรพัฒน์ : ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย
เรียบเรียง : สุชาติ ชูลี
ภาพประกอบ:ศรยุทธ รุ่งเรือง