“อยู่ดีกินหวานจุปุ้จุก๋นเน้อ (สวัสดีสบายดีไหม)

ลำน้ำสานไหลกระทบโขดหินดังระงมไปทั่วชุมชนเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่อ้อมกอดภูสันแป ณ ที่แห่งนี้คืออยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ ไทแดง น้อยคนนักจะรับรู้ว่ามีอยู่ในเมืองไทย ผมออกเดินทางจากสนามบินดอนเมืองอย่างกระทันหัน ไม่มีข้อมูล ความรู้ -รู้แต่เพียงว่ามีหนุ่มนักศึกษารัฐประศาสนศาสตร์คณะมนุษย์ศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จะนั่งรถกระบะมากับพ่อ-แม่เพื่อมารอรับผมกับทีมงานที่สนามบินจังหวัดเลย ตลอดระยะทาง กว่า ๗๐ กิโลเมตร เมฆได้ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมา สีหน้าและแววตาบอกถึงความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ตนเอง เขาแรมรอนไปสืบเสาะหาต้นทางของบรรพบุรุษ ข้ามห้วย ป่าเขา จนได้เจอะเจอกับญาติ พี่น้องที่บ้านสบเบา แขวงหัวพันซำเหนือของลาวและบ้านนากลางแขวงเวียงจัน ครั้งที่สองเขาเดินทางไปเข้าไปยังชุมชนไทแดงในเวียดนาม

“ชาวไทแดงบ้านห้วยผักเน่าอพยพมาจากเมืองแอดสบเบาทางตอนเหนือของลาวครับถูกพวกฮ่อรุกรานชาวไทแดงสู้ฮ่อไม่ได้จึงพากันหนีเข้าทุ่งหญ้าคาพวกฮ่อกับแกวไล่ตามมาติดๆเกิดการสู้รบกันขึ้นในป่าหญ้าคาครานี้ไทแดงชนะจึงตั้งชื่อตะกูลของตนว่าคาหมายถึงชัยชนะที่ได้จากป่าหญ้าคานั่นเอง” เมฆเล่าถึงความเป็นมาของต้นตระกูล เขายังนำผ้าโบราณลายนกเงือกซึ่งหมายถึงต้นตะกูลที่สูงศักดิ์ให้ดู หลังอิ่มเอมจากอาหารมื้อค่ำ

ลำน้ำสานยังคงส่งเสียงกระซิบ ภูสันแปและผืนป่า ฝูงนกโบยบินออกจากรัง ไก่แจ้โก่งคอขันรับอรุณรุ่งของเช้าวันใหม่ บรรยากาศสบายๆ วิถีชีวิตเรียบง่ายในอ้อมกอดแห่งขุนเขา เมฆชักชวนผมขึ้นรถอีแต๊กไปยังที่นาขั้นบันได โดยมีเจ้าเพื่อนยากวิ่งลิ้นห้อยคอยนำทาง ขึ้นเนิน ข้ามลำธารเล็กๆ ระยะทางร่วม ๕ กิโลเมตร จนถึงที่นา เจ้าเพื่อนยากยังคงวนเวียนดูเมฆสาธิตการเรียกขวัญแม่โพสพตามแบบฉบับชาวไทแดงอย่างสนใจ

ไม่ว่าอดีตจะเป็นเช่นไร การเรียนรู้รากเหง้าเสมือนส่องกระจกมองดูเงาของตัวเอง มนุษย์ย่อมมีความแตกต่าง ในความเป็นมนุษย์เราจึงควรเคารพศักดิ์ศรีและเคารพในความเท่าเทียม ก็คงคล้ายกับหยดน้ำต้นทาง หลอมรวมเป็นแอ่งน้ำ ไหลคดเคี้ยวเลี้ยวเลาะตามซอกเขา สู่ลำน้ำสายหลักของอำเภอภูเรือ ก่อนไหลบรรจบกับแม่น้ำเหือง แม้จะเป็นเส้นแบ่งเขตชายแดนไทยกับลาว แต่สายน้ำไม่เลือกชนชาติและสถานะ

ขอบคุณ เทวรักษ์(เมฆ) ครอบครัวสารมะโน รวมทั้งชาวไทแดงและเจ้าเพื่อนยาก บ้านห้วยผักเน่าอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย

คัดย่อ: จากงานวิจัยกลุ่มชาติพันธ์ไทแดงโดยสุมิตรปิติพัฒน์และคนอื่นๆ (๒๕๔ต). คนไทแดงในแขวงหัวพันสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตชำเหนือและชำใต้แขวงหัวพันประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประชากรไทแดงมีการอพยพย้ายถิ่นฐานด้วยเงื่อนไข๒ประการคือ

๑ เกิดจากสงครามและการปล้นสะดมจากกลุ่มฮ่อในช่วงปีค..๑๘๗๔

๒ เกิดจากนโยบายการปกครองแขวงหัวพันของฝรั่งเศสตั้งแต่ปีค.. ๑๘๙๖เป็นต้นมาการเคลื่อนย้ายประชากรทั้งสองช่วงทำให้ชาวไทแดงที่อาศัยอยู่ในถิ่นฐานเดิมที่ชาวลาวพุทธตั้งอยู่และที่อาศัยอยู่ในเวียดนามเข้ามาอยู่ในเขตประเทศลาว.