บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ รินทร์

คัมภีร์ของลัทธิไศวะ ได้กล่าวถึงตำนาน“พระปรเมศวร” (พระศิวะ) มีพระประสงค์จะสร้างสวรรค์และโลก พระองค์ทรงต้องการผู้ช่วย จึงนำพระหัตถ์ซ้ายลูบพระหัตถ์ขวาจนบังเกิดเทพยดาที่ชื่อ “พระวิษณุ” หรือ “พระนารายณ์” พระปรเมศวรได้สอนศิลปะด้านต่าง ๆ ให้กับพระวิษณุและทรงมอบหมายให้ประทับอยู่ ณ เกษียรสมุทร เมื่อเกิดเหตุร้ายในโลกมนุษย์หรือสวรรค์ พระวิษณุจะมีหน้าที่ไปปราบปราม

ลัทธิไศวะทั้งสายภักตินิยมและสายโยคะก็เริ่มแพร่หลายในหลายอาณาจักร รวมทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พบโบสถ์พราหมณ์ลัทธิไศวะหลายพันแห่งในประเทศอินโดนีเซีย กัมพูชา และเวียดนาม ความเชื่อของลัทธิไศวะมีหลายรูปแบบ บางกลุ่มถือว่าพระศิวะคือมหาเทพพระผู้สร้าง รักษา และทำลายล้างโลก บางกลุ่มมองว่าพระศิวะหมายถึงอาตมันอันเป็นภาวะแก่นสารของสรรพสิ่ง

img 5421

พื้นที่รอยต่อระหว่างไทย-กัมพูชา บริเวณเขาน้อยมีเทวสถานแห่งเทพไวษณพตั้งอยู่บนยอดเขา สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ มีการบูรณปฏิสังขรณ์ในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ และคงความสำคัญจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เชื่อว่าเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ตัวปราสาทเป็นโบราณสถานไม่ก่ออิฐสอปูน ประกอบด้วยปราสาทก่อด้วยอิฐ ๓ หลังคือ ปรางค์ทิศเหนือ ปรางค์องค์กลางและวิหารทิศใต้ แต่คงเหลือเพียงปรางค์องค์กลางเท่านั้นที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์

img 5404

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแห่งชาติให้กับปราสาทเขาน้อยสีชมพู มีการขุดสำรวจพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น โบราณวัตถุทำจากโลหะ เครื่องปั้นดินเผา ทับหลังหินทรายแบบสมโบร์ไพรกุก ๕ ชิ้น ประติมากรรมรูปนางมหิษาสุรมรรธนีสี่กร(สูญหาย)และแผ่นจารึกที่บ่งบอกถึงอายุการสร้างปราสาทเรียกว่า “จารึกเขาน้อย”  ระบุมหาศักราช ๕๕๙ ตรงกับ พ.ศ. ๑๑๘๐  (รัชกาลพระเจ้าอีศานวรมันที่ ๑ พ.ศ.๑๑๕๙-๑๑๘๐) เนื้อหาจารึกแปลจากภาษาสันสกฤต ๙ บรรทัด ซึ่งแปลไม่ได้ชัดเจนเพราะมีรอยขีดข่วน บางส่วนหักหายไป ได้กล่าวถึง เชยษฐปุระสวามี  สันนิษฐานเป็นชื่อตำแหน่งขุนนางสำคัญคนหนึ่ง เช่น คำว่า “มรตาญโกลญ เชยษฐปุระ”และกล่าวถึงจำนวนวัสดุสิ่งของ รายนามข้าราชการ ข้าทาสรับใช้ต่างๆ จารึกเขาน้อยหลักนี้ถือได้ว่าเป็นจารึกระบุศักราชเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ปราสาทเขาน้อยสีชมพู ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว

***ข้อมูลโดยสำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี
***สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน