บันทึกคนหลงทาง :อัยย์ รินทร์
“โอ้เวียงแว่นฟ้าโยนกนาคพันธ์ุ สิงหลวัติจัยบุรี สลี่เจียงแสนเป็นดินแดนของเฮาเก่าก่อน แจ่นป้อม่อน แจ่นแม่ม่อนเฮาจากมา ปิง วัง ยมน่าน แม่ฮายไหลล่อง ลาพี่ลาน้องแห่งฮ้องเคยอยู่กิน เป็นตำนานไทยวนย่ายแผ่นดิน น้ำตาหลั่งรินกึ้ดเติงเจียงแสนล้านนา… ”
ท่อนหนึ่งในบทเพลงไท-ยวนย้ายแผ่นดิน ซึ่งประพันธ์โดยพิพัฒน์พงษ์ หน่อขัด ได้บอกเล่าถึงการพลัดถิ่นฐานของชาวไท-ยวนครั้งใหญ่ ในปีพ.ศ.๒๓๔๗ คราแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ (รัชกาลที่ ๑) ดังพระราชพงศาวดารแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งบันทึกโดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขํา บุนนาค) ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ขณะนั้นหัวเมืองใน ล้านนา ส่วนใหญ่เป็นอิสระจากพม่าแล้วตั้งแต่สมัยธนบุรี จะ เหลือแต่กลุ่มเมืองเชียงแสน กองทัพสยามจึงยกทัพขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสน
หลังจากทัพหลวงสยามได้รับชัยชนะ มีการรวบรวมชาวเมืองเชียงแสน แบ่งแยกให้ไปอยู่เชียงใหม่ ลำปาง น่าน และเวียงจันทน์ อีกส่วนติดตามทัพหลวงลงมากรุงเทพฯ แต่ในขณะที่ผ่านลุ่มแม่น้ำป่าสัก (บริเวณอำเภอเสาไห้) จังหวัดสระบุรี ชาวไท-ยวน ส่วนหนึ่งได้ขอตั้งบ้านเรือนทำกินอยู่ ณ ที่แห่งนั้น ส่วนที่เหลือเดินทางมาพำนักชั่วคราวพระนคร ก่อนจะได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เคลื่อนย้ายมาตั้งหลักแหล่งอยู่บ้านไร่นที ริมฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ห่างออกไปจากตัวเมืองราชบุรีทางทิศตะวันออก
ขยายมาเรื่อยๆ ที่ตำบลดอนแร่ ก็เป็นอีกหนึ่งถิ่นฐานของชาวไท-ยวน ซึ่งได้มาตั้งรกรากอยู่ชายขอบอำเภอเมืองราชบุรี เมื่อมีชุมชนก็ต้องมีศูนย์รวมของศรัทธาและนั่นคือที่มาของวัดทุ่งหญ้าคมบางซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในแผ่นดินพระจอมเกล้าฯ นอกจากมีความเป็นถิ่นฐานของชุมชนคนไท-ยวน แล้ววัดแห่งนี้ยังมีภาพจิตรกรรมเพดานศาลาการเปรียญอันโดดเด่น สวยงามและแปลกตา ถ่ายทอดจินตนาการณ์ของศิลปิน “ช่างชื่น”ผู้ตวัดปลายพู่กันเล่าเรื่องราว อาทิ ลิงต่อตัวเป็นช้าง หัวล้านชนกัน ภาพอุปรากรงิ้วฯลฯ ดังปรากฎข้อความจารึกว่า
“ครูชื่นช่างร่างประดิษลิขิตขม
ชื่นอารมณ์รับการก็สำเร็จเสร็จพรรษา
ช่างเจ็บหลังเมื่อยคอพอทัศนา
เขียนเทพาจัตตุเซียนเหาะเหียนเอย”
แม้นจะมีอดีตราวกับฝันร้าย บ้าน เรือนที่เคยอยู่ในโยนกเชียงแสนนครอันรุ่งเรือง จำต้องตกอยู่ใต้อาณัติพม่า จำยอมอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่สิงห์บุรีและราชบุรี ที่บอกถึงอัตลัษณ์ของความเป็นไท-ยวนและยังคงสืบสานกันมาอย่างยาวนาน
“ลูกหลานเอ๋ย อย่าละฮีตฮ้อนร้อยเฮียงตำนาน สืบสานประเพณี อย่าลืมเลือนสายใยน้องพี่ไทยยวนเฮานี้ สักกี่ร้อยปีบ่เปลี่ยนไป ยังอู้กำเมือง นุ่งซิ่นตีนจก ยังมีมรดกโยนกเรืองไร อยู่สุขแสนบนผืนแผ่นดินไทย เทิดเจ้าพ่อไท้ได้ฮ่มพระบารมี”
***การบันทึกภาพจิตรกรรมเก่าแก่…ไม่ว่าที่ใดก็ตามกรุณางดใช้แฟลช เพราะท่านอาจจะทำให้ภาพสวยงามเสียหายโดยไม่รู้ตัว
บทความ
เกี่ยวข้อง:http://www.ubu.ac.th/web/files_up/08f2018010316024828.pdf