เมืองศักดิ์สิทธิ์ มั่งคั่ง วิจิตรงดงามและเจริญรุ่งเรืองเมืองที่มีประติมากรรมคนแคระ เป็นผู้แบกหรือผู้ค้ำจุน ผู้ปกป้องศาสนสถานให้ดำรงอยู่

บันทึกคนหลงทาง 

เรื่องและภาพ : อัยย์ รินทร์

บริเวณฐานโบราณสถาน “เขาคลังใน”ด้านทิศใต้และตะวันตก มีประติมากรรมปูนปั้นคนแคระ  ที่มีศีรษะเป็นบุคคลและสัตว์ สลับกับรูปสัตว์ต่างๆ ในท่าแบก ประกอบกับมีลายพันธ์พฤกษา สันนิษฐานกันว่าโบราณสถานเขาคลังในสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่  ๑๒  เพื่อเป็นศาสนสถานของพุทธศาสนาลัทธิหินยานหรือเถรวาท ตามแบบฉบับวัฒนธรรมทวารวดีในระยะแรก ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่  ๑๔ พุทธศาสนาลัทธิมหายานเข้ามามีบทบาทสำคัญจึงได้เปลี่ยนเป็นพุทธศาสนามหายาน เรื่อยมาจนในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ด้วย จึงได้พบพระพุทธรูปอิทธิพลศิลปะเขมรแบบบาปวน-นครวัด ว่ากันว่าคนแคระที่เมืองศรีเทพนั้นมีเอกลักษณะแตกต่างจากที่อื่นๆ คือ ด้วยสีหน้าท่าทางอันแสดงออกถึงอารมณ์ต่างๆ นอกจากจะเป็นรูปบุคคล แล้ว ยังปรากฏมีรูปสัตว์ อาทิ ช้าง สิงห์ ลิง โค กระบือ ฯลฯ

IMG 1683

ดังปรากฏหลักฐานการค้นพบประติมากรรมคนแคระในยุคสมัยทวารวดี นั้นมีในพื้นที่ใกล้เคียงอันเป็นเสมือนเส้นทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยง เช่นวัดนครโกษา จังหวัดลพบุรี , เมืองโบราณโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ ไล่ลงมาจนถึงบริเวณเมืองโบราณภาคกลาง-โบราณสถานเมืองนครปฐม ,โบราณสถานทุ่งเศรษฐี จังหวัดเพชรบุรี, เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี,โบราณสถานเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 

ตำนานที่มาของคนแคระนั้นคือบริวารของเทพเจ้าฮินดู ซึ่งพระนามว่าท้าวกุเวร (Kuwara)  มีรูปร่างอวบอ้วนพุงพลุ้ย พระพักตร์กลม พระหัตถ์ถือผลมะนาวและพังพอน มีหม้อเงิน หม้อทองอยู่ด้านข้าง ท้าวกุเวรเป็นเทพ ทิศปาลก ผู้รักษาทิศเหนือ เป็นราชาแห่งยักษ์ที่ได้บำเพ็ญตบะญาณเป็นเวลาหลายพันปี จนพระพรหมทรงเมตตา ประทานพรให้เป็นเทพแห่งความร่ำรวยมั่งคั่ง (ผู้รักษาทรัพย์ในดิน) แต่คติทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน – วัชรยาน ท้าวกุเวรจะมีพระนามว่า ท้าวชมภละ (ชุมพล) หรือปัญจิกะ ทำหน้าที่เป็นพระโพธิสัตว์ธรรมบาล คอยปราบปรามปีศาจและยักษ์มารต่าง ๆ ซึ่งเป็นศัตรูต่อพุทธศาสนา และทรงเป็นโลกบาลมีชื่อว่า เวสสุวัณ (เวสสุวรรณ)” หรือไวศรวัณ ทำหน้าที่ปกป้องทิศเหนือ บนยอดเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และคอยเฝ้าดูแลทางเข้าสวรรค์ดินแดนสุขาวดี

IMG 1672

กล่าวได้ว่าอินเดียคือต้นกําเนิดของรูปแบบศิลปกรรมต่างๆ  ทั้งในศรีลังกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ภาพสลักภายในถ้ำเอเลเฟนตะ (Elephanta Caves) ใกล้เมืองมุมไบ มีภาพสลักเทวดาและเทพบริวารรูปร่างอวบอ้วนทรงผมหยิกเป็นลอน สวมต่างหูทรงกลม ขนาดใหญ่ สลักประกอบกับภาพประธานที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้าองค์ต่างๆ และภาพสลัก ที่ถ้ำอชันตา (Ajanta Caves) หมายเลข ๑๖ ซึ่งเป็นถ้ำทางพุทธศาสนามหายาน ซึ่งมีภาพเหล่าเทวดาสลักประดับอยู่บนเพดานและเสาภายในถ้ำลักษณะ อวบอ้วนนั่งยองๆ สวมเครื่องประดับและต่างหู ทรงกลมขนาดใหญ่ผมหยิกเป็นลอนซึ่งใกล้เคียงกับรูปคนแคระในสมัยทวารวดี

302745129 1068124440494571 1609477187374531147 n

ภาพสลักในประเทศอินเดียเหล่านี้เป็นการสลักหน้าผาและภูเขา เพื่อ ใช้เป็นศาสนสถานทั้งศาสนาพุทธ ฮินดูและเชน โดยสร้างขึ้นในสมัยอินเดียโบราณ เจริญรุ่งเรืองสืบทอดการก่อสร้างในช่วงสมัยคุปตะและหลังคุปตะ ราว ๑,๓๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งจากภาพสลักและภาพจิตรกรรมได้ส่งอิทธิพลและเป็นต้นเค้าให้กับรูปแบบศิลปะสมัยทวารวดีในประเทศไทยช่วง ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว โดยการเข้ามาพร้อมๆ กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า ตลอดจนการโยกย้ายถิ่นฐาน นำมาซึ่งวัฒนธรรมจากสายธารแห่งวัฒนธรรมอินเดีย สู่ดินแดน“To-lo-po-ti”หรือ“ทวารวดี”หรือที่เรียกว่า “ทวารกา” เมืองของพระกฤษณะ อวตารของพระนารายณ์ ในวรรณกรรมอินเดีย “มหาภารตะ” ทวารวดีคือเมืองศักดิ์สิทธิ์มั่งคั่งวิจิตรงดงามและเจริญรุ่งเรืองเมืองที่มีประติมากรรมคนแคระ เป็นผู้แบกหรือผู้ค้ำจุน ผู้ปกป้องศาสนสถานให้ดำรงอยู่ตราบทุกวันนี้

ขอบคุณที่มาข้อมูลอ้างอิง

หนังสือ: ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี

https://artculture.pcru.ac.th/ebooks/documents/20.pdf

https://lek-prapai.org/home/view.php?id=787

http://www.oknation.net/blog/voranai/2017/07/01/entry-1

https://www.finearts.go.th/storage/contents/2021/07/detail_file/Ia3Z3qPRqzkynFL8BqWmi3HrzZ39HegWbGeG9tpk.pdf

http://www.sure.su.ac.th/xmlui/bitstream/handle/123456789/1572/fulltext.pdf?sequence=2&isAllowed=y