“จริงๆ แล้วศาสตร์พระราชากับโคกหนองนาหรือว่าเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ว่าจะทำอะไรก็ช่างถ้าหากเรามีพื้นฐานความเป็นอยู่ที่ดี อยู่แล้ว เราตัดต่อยอดไปทำอะไรก็ได้ ถ้าเกิดเราไปทำสิ่งนั้นไม่สำเร็จ เราจะกลับมาอยู่จุดนี้ได้ เพราะว่าจุดนี้เป็นจุดที่สามารถรองรับ ให้เราสร้างแหล่งอาหารให้กับครอบครัวและคนข้างเคียง”
20 กว่าปีก่อนที่เด็กหนุ่มบ้านนอกตัดสินใจออกจากบ้านเข้ามาทำงานในโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อะไหล่รถยนต์ ด้วยวุฒิการศึกษาต่ำจำต้องทำงานรายได้ 145 บาทต่อวัน โยกย้ายเปลี่ยนที่ทำงานอยู่หลายปีกระทั่งมีครอบครัว ชีวิตสองคนในเมืองกับรายได้ไม่กี่บาทนั้นคงไม่เพียงพอและการหวนคืนสู่อ้อมกอดแผ่นดินเกิดย่อมเป็นหนทางที่ดีกว่า มั่นคง ปลอดภัย อบอุ่น อดิรุจและภรรยาจึงตัดสินใจลาออกจากงานมารับงานเย็บผ้าโหลที่บ้านเกิด ยามว่างก็หาปู หาปลา เก็บผักและทำนาเหมือนชาวนาทั่วไป
เขาลงทุน ลงแรงทำนาโดยเช่าที่นาใกล้เคียงรวมกับของตนเกือบร้อยไร่ ต้นกล้าแห่งความหวัง งอกงามจนมองเห็นถึงผลกำไรที่จะได้จากการขายข้าว บ้านผุพังจะได้รับการซ่อมแซม ปรับปรุงให้สมฐานะ สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย เครื่องใช้ไฟฟ้า แม้แต่เสื้อผ้า ค่าเล่าเรียนลูก ๆ เลื่อนไหลอยู่ในจินตนาการ ทว่าปีนั้นเป็นปีที่หนาวจัด ทุ่งนาและรวงข้าวไยกไหวไปตามแรงลมพัด ลู่กิ่วพลิ้วไกวคล้ายดอกหญ้า ความหวังพังทลายเมื่อข้าวออกรวงแต่ไร้เมล็ด
อดิรุจและคนในครอบครัวจำต้องรับสภาพ ขาดทุนจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ความเครียด ความทุกข์ทางใจ แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อเขาได้ดูรายการทีวีที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 หลักการทรงงานของพระองค์ท่านจุดประกายให้อดิรุจฉุกคิดได้ว่า นั่นคือทางเลือกและทางรอด อันจะนำพาชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีให้เขาและครอบครัว
“ผมนั่งมองพื้นที่โดยรอบที่ถูกน้ำท่วม เป็นหนองและทุก ๆ ปีพื้นที่บริเวณนี้จะเป็นพื้นที่รับน้ำ พยายามคิดหาวิธีจะทำอย่างไรดี วูบหนึ่งในความรู้สึกภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สืบต่อมาแต่โบร่ำโบราณ ขุดหนอง ขุดสระ เอาดินขึ้นทำโคก เพื่อให้สูงพ้นน้ำ และจะมีพื้นที่ในการปลูกพืชผัก ผลไม้ไว้กิน ลดค่าใช้จ่าย ส่วนที่เหลือก็นำไปขายสร้างรายได้ จากจุดเริ่มต้นเล็กค่อย ๆ เป็นรูปก่อร่าง กระทั่งน้ำท่วมสุโขทัยครั้งล่าสุด พื้นที่โคกหนองนา สวนกล้วย มะนาว ผลไม้ บ่อเลี้ยงปลาของผมไม่ได้รับผลกระทบ”
บทเรียนจากความผิดพลาดวิถีการทำนาที่ต้องพึ่งพาสารเคมี นำไปสู่ทางเลือกที่ดีกว่าด้วยความมุ่งมั่น เรียนรู้ อดิรุจขวนขวายเรียนรู้ที่ไหนมีอบรมก็เข้าร่วมอบรม นำความรู้ที่ได้มาพัฒนาแปลงที่นาของตนตลอดจนการเดินทางไปดูงานตามโครงการสาธิตทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เขาก็ได้เอาความรู้กลับมาปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาข้าวอินทรีย์
“ข้าวอินทรีย์ที่ผมทำต้นทุนต่ำมาก ไร่ล่ะ 1,700 บาท แต่ถ้าหากทำนาข้าวแบบพึ่งพากลไกตลาด ค่าปุ๊ย ค่ายาฆ่าแมลง ต้นทุนในการทำนาตกไร่ละ 4,500 แต่ตอนนี้น่าจะไม่อยู่ 4,500แล้ว เพราะว่าปุ๋ยยูเรียลูกนึงก็ลูกละ 8-900 บาท ในส่วนของเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกถ้าเกษตรกรไม่เก็บไว้ใช้เองราคาเมล็ดพันธุ์ก็แพง ชาวนาทำนา ต้นทุนสูงมากการทำนาข้าว แบบเก่า 10 ไร่ ได้กำไรไม่ถึงหมื่น แต่ถ้าหากยอมลำบากมาทำนาข้าวอินทรีย์แค่ไร่เดียวกำไรหมื่นกว่าบาท ทั้งยังเป็นข้าวที่ปลอดสารพิษ กระบวนการวิธีปลูกข้าวแบบธรรมชาตินะครับ”
ปัจจุบันพื้นที่ 17 ไร่ 2 งานของอดิรุจ ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่โคก 7 ไร่ มีการขุดคลองไส้ไก่รอบแปลงข้าวและตั้งใจว่าจะถมดินให้เป็นโคกหนองนา น้ำ 5 ระดับความสูงของน้ำจะต่างกันประมาณ 1.50 ม. ตรงบริเวณที่เป็นโรงเรือนจะสูงกว่าอีก 1.50 ม. ก็มีลักษณะเหมือนเป็นแอ่งเก็บน้ำขั้นบันได เพื่อการบริหารจัดการเรื่องน้ำในแปลงให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“จริงๆ แล้วศาสตร์พระราชากับโคกหนองนาหรือว่าเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ต้องเริ่มจากขั้นพื้นฐานหรือจะนำเศรษฐกิจพอเพียงทฤษฎีใหม่มาประยุกต์สู่โคกหนองนา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ช่างถ้าหากเรามีพื้นฐานความเป็นอยู่ที่ดี อยู่แล้ว เราตัดต่อยอดไปทำอะไรก็ได้ ถ้าเกิดเราไปทำสิ่งนั้นไม่สำเร็จ เราจะกลับมาอยู่จุดนี้ได้ เพราะว่าจุดนี้เป็นจุดที่สามารถรองรับให้เราสร้างแหล่งอาหารให้กับครอบครัวและคนข้างเคียง” อดิรุจเล่าประสบการณ์ชีวิตด้วยสายตาและรอยยิ้มที่เปี่ยมสุข-
ขอบคุณ: สวนแสงชัยอดิรุจแสงชัย
อดิรุจและบังอร แสงชัย