บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ -รินทร์

ในค่ำคืนที่เมฆฝนแผ่คลุมผืนฟ้าและหมู่ดาวจนแทบจะมองไม่เห็นปรากฏการณ์ทางช้างเผือก ภาพบื้องหน้าคือปราสาทหินศิลาแลงเด่นสง่าอยู่ท่ามกลางความมืด แว่วเสียงคล้ายคนสนทนาหรือบริกรรมคาถาอะไรสักอย่างอยู่ด้านหลัง ทุกๆครั้งที่สายลมพัดผ่าน รู้สึกวาบหวิวสะท้านทรวง ไม่อยากมโนว่านั่นคือเสียงของเทพยดาผู้ปกปักษ์รักษาหรือพระราชครูศรีชเยนทรวรมันท่านยังคงสิงสถิตอยู่ ณ เทวสถานที่พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ซึ่งทรงสร้างประทานแด่สทาศิวะครั้งลาสิกขาจากสมณเพศและทรงใช้ปราสาทแห่งนี้ในพิธีบรมราชาภิเษก
     
กล่าวกันว่าศาสนาสถานแห่งนี้คือกุญไขประวัติศาสตร์อารยธรรมขอมที่นักโบราณในระดับสากลให้การยอมรับ ราวปี พ.ศ ๒๔๕๔ มีการค้นพบหลักจารึกภาษาสันสกฤตและภาษาเขมรที่ระบุข้อความลำดับพระมหากษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรเขมรได้ละเอียดครบถ้วนและค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุดหลักหนึ่ง เท่าที่ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมของเขมร บริเวณมุมปราสาทประธานด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือโดยนายลูเนต์ เดอ ลายองกิแยร์ (Lunet de Lajonquire) ต่อมาร้อยตำรวจเอกหลวงชาญนิคมจะบันทึกไว้ว่า พ.ศ ๒๔๖๓ พบหลักจารึกบริเวณด้านทิศเหนือของปราสาทองค์ประธาน ตำแหน่งที่พบนั้นอาจจะคลาดเคลื่อนกัน หากแต่บทบันทึกบนจารึกหลักนี้ได้บอกเล่าเรื่องราว สภาพสังคมวัฒนธรรม พิธีกรรมและการนับถือศาสนา ลำดับเจ้าผู้ครองนครนับตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ (พ.ศ ๑๓๔๕ )กษัตริย์ผู้สถาปนาอาณาจักรเมืองพระนคร (Angkor) จนถึงรัชกาลพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ (ครองราชย์ ๑๕๙๓ – ๑๖๐๙ ) รวมเวลา ๒๕๐ ปี โดยประมาณ

39454046 2007837779268001 5138463941965381632 n
แสดง แสง สี เสียง ปราสาทสด๊กก๊อกธม 


วันเวลาผันผ่านนับร้อยนับพันปีศาสนสถานแห่งนี้แม้ชำรุดทรุดโทรมและหักพังลงบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาของสรรพสิ่ง หากสิ่งที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาอันชาญฉลาดที่ไม่มีเครื่องประดิษฐิ์ทุ่นกำลัง หยาดเหงื่อแรงกาย พลังศรัทธา นำไปสู่การออกแบบและก่อสร้างปราสาทหินของคนสมัยโบราณ ที่เกี่ยวเนื่องการโคจรของดวงดาว พระอาทิตย์ จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ทางธรรมชาติ เฉกเช่นยามฟ้าสางทุกเช้าช่วงปลายเดือนกุมภาพัน-มีนาคมของทุกปี เฉกเช่นกับการมาปราสาทปราสาทสด๊กก๊อกธมเป็นครั้งแรกของผมที่มีโอกาสได้ยลพระอาทิตย์ฉายแสงแรกแห่งอรุณผ่านประตูปราสาท ภาพความงดงาม เสานางเรียง ซุ้มประตู “โคปุระ” ศาสนสถานองค์หลักโดดเด่นงามสง่าสมกับความเป็นปราสาทแห่งความผูกพันระหว่างศิษย์ -พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 (พุทธศักราช1593- 1609)สร้างให้กับพระราชครูศรีชเยนทรวรมัน ปราสาทซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางต้นกกขนาดใหญ่

39313154 2108689685830303 5147285736071888896 n
ภาพ: ปานเพชร ร่มไทร

อาทิตย์สาดแสงจ้าผู้คนมากมายต่างสนุกสนานกับการบันทึกภาพ ฝูงนกบินถลาออกมาจากปราสาทองค์ประทาน และเสียงคล้ายคนสนทนาหรือบริกรรมคาถาที่ทำให้รู้สึกวาบหวิวก็เป็นเจ้านกมีหูหนูมีปีกนั่นเอง.
   
***ข้อมูลจากกรมศิลปากร ปราสาทสด๊กก๊อกธมสร้างขึ้นในพุทธศักราช ๑๕๙๕ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ในวโรกาสที่พระองค์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานแห่งภัทรปัตนะ ซึ่งเคยถูกทำลายลงในช่วงสงครามกลางเมืองสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ตามคำกราบบังคมทูลขอของพราหมณ์สทาศิวะ หรือชเยนทรวรมัน โดยพระองค์ทรงสถาปนาศาสนสถานแห่งนี้ นามใหม่ว่า ภัทรนิเกตน (ที่อยู่อาศัยที่ดี) แด่พราหมณ์สทาศิวะเป็นพระราชครู พร้อมทั้งได้สถาปนาศิวลึงค์ อีกทั้งกัลปนาข้าทาสประจำศาสนาสถาน

ปราสาทสด๊กก๊อกธม ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านหนองเสม็ด หมู่ ๙ ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว