บันทึกคนหลงทาง คำและภาพ : อัยย์ รินทร์
….ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ย่อมรักและหวงแหนชีวิตของตนเหนือสิ่งอื่นใด เฉกเช่นเดียวกับชีวิตของเหล่าทหารเชลยศึก ที่ถูกควบคุมจากหลายเชื้อชาติ พวกเขาถูกทรมาณ ถูกบังคับให้ทำงานตลอดทั้งวัน อาหารประทังชีวิตก็แค่ข้าว ผักและปลาแห้งบรรเทาความหิว ในยามที่บาดเจ็บหรือล้มป่วยหยูกยาหรือเครื่องมือทางการแพทย์ก็ขาดแคลน ซ้ำยังถูกทำทารุณกรรมส่งผลให้เหล่าเชลยศึกจำนวนมากต้องเสียชีวิต
พ่อค้าที่ชื่อนายบุญผ่องได้เห็นได้สัมผัสรับรู้ถึงความทุกข์ยากอันแสนสาหัสของเชลยศึกในค่ายกักกัน จากการที่เขาได้เข้าไปค้าขายสินค้าให้กับกองทัพญี่ปุ่น ภาพที่เห็นอยู่เจนตาทุกๆ วันคือร่างไร้วิญญาณศพแล้วศพเล่าถูกโยนทิ้งลงสู่สุสานใต้บาดาล ด้วยสามัญสำนึกแห่งความเป็นเพื่อนมนุษย์ปลุกมโนธรรมให้นายบุญผ่องตัดสินใจ เสี่ยงชีวิตลักลอบนำยาควินินมาให้หมอเวรี่(ศัลยแพทย์เชลยสงคราม เซอร์เอ็ดเวิร์ด เวียรี่ ดันลอป) รักษาคนไข้เชลยศึกที่เป็นโรคมาลาเรีย
หลายครั้งที่เขาต้องแขวนเครื่องเวชภัณฑ์ไว้ที่คอ ว่ายน้ำเข้าไปยังค่ายกักกันในยามวิกาล บางคราลูกสาววัยสิบขวบกว่าก็ต้องรับบทเสี่ยงด้วยการแอบนำยาให้เชลยศึกเพื่อไม่ให้ฝ่ายญี่ปุ่นสงสัย ทุกๆ ค่ำคืนในราวป่า เสียงเหล็กกระทบกับก้อนหิน บริเวณช่องเขาขาดดังกลบบรรยากาศเงียบสงัด แสงวับวาบจากกองไฟสาดส่องเรือนร่างอันผอมโซของเชลยศึกและคนงานที่ต้องทำงานหนัก โศกนาฎกรรมอันน่าสะเทือนใจที่มนุษย์กระทำต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน คือที่มาของชื่อ “ช่องไฟนรก” นั่นคือเหตุการณ์ที่ช่องเขาขาด จังหวัดกาญจนบุรี….
บทบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในปีพ.ศ. ๒๔๘๕ กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นตัดสินใจสร้างทางรถไฟ ตั้งแต่บ้านโป่งไปจนถึงตันบูซายัดในพม่า ด้วยระยะทางราว ๔๑๕ กิโลเมตร เพื่อขนส่งกองทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เป้าหมายคือบุกยึดพม่าและอินเดียให้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว แรงงานพลเรือนชาวเอเชียกว่าสองแสนคน และทหารเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรอังกฤษ ออสเตรเลียซึ่งส่วนใหญ่จับได้จากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซียอีกกว่าหกหมื่นคน ถูกส่งเข้ามาเพื่อสร้างทางรถไฟ
เรื่องราวอีกซีกโลกของมหาสมุทรแปซิฟิก เช้าอาทิตย์ของวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔“เซนจิ อาเบะ”ผู้ได้เห็นแสงอรุณรุ่งเหนือเพิร์ลฮาร์เบอร์จากหน้าต่างห้องนักบินของเครื่องบินทิ้งระเบิด ในขณะที่พลเป่าแตรนาวิกโยธินประจำการอยู่บนเรือเวสต์เวอร์จิเนียน “ดิ๊ก ฟิสก์”ผู้รับหน้าเป่าแตรปลุกเพื่อนตื่นจากที่นอน เวลา ๐๕.๓๐ น.และเป่าแตรอีกครั้งเพื่อบอกสัญญาณอาหารเช้าเวลา ๐๖.๓๐ น. ทันใดนั้นลูกระเบิดหล่นลงที่เรือแอริโซน่า ซึ่งห่างจากเรือเวสต์จิเนียร์เพียง ๑๕ เมตร หลังจากนั้นระเบิดตอร์ปิโดก็ถูกทิ้งลงมาราวกับห่าฝน เป็นเหตุให้เรือแอริโซน่า,เรือโอคลาโฮมา,เรือแมรี่แลนด์,เรือเทนเนสซี่,เรือแคลิฟอร์เนียเรือเวสต์เวอร์จิเนีย,เรืออู่เวสทัล,เรือเนวาดาและเรือยูท่าห์เสียหายจากแรงระเบิด “เรืออริโซน่ากระดอนขึ้นเหนือผืนน้ำราว ๖ เมตร” คือคำยืนยันจากทหารเรือนายหนึ่งที่เห็นเหตุการณ์จากบนเรือเนวาดา เพิร์ลฮาร์ถูกถล่มในครั้งนั้น สร้างความเสียหายแก่กองทัพเรือของอเมริกา เหล่าทหารกล้าและพลเรือนอเมริกันต้องสังเวยชีวิต ถึง ๒,๔๐๓ คน บาดเจ็บ พิการ ๑,๑๗๘ คน นั่นคือที่มาของการปลุกยักษ์ที่กำลังหลับไหลให้ตื่นขึ้นมา…เอาคืน…จนนำไปสู่โศกนาฎกรรม
ฤดูร้อนวันจันทร์ ที่ ๖ สิงหาคม ปี พ.ศ.๒๔๘๘ “เด็กน้อย”หรือลิตเติ้ลบอยสมญานามระเบิดปรมาณู(นิวเคลียร์)ลูกแรกแหวกม่านฟ้าเมืองฮิโระชิม่า และตามมาด้วยชายอ้วน(แฟตแมน) ที่เมืองนางาซากิ เพียงแค่สองลูกอานุภาพของมัน คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบสองแสนกว่าคน ยังไม่รวมผู้บาดเจ็บจากกัมมันตภาพรังสีอีกมากมาย…กี่ชีวิตที่ต้องล้มหายตายจาก กี่ครอบครัวที่ต้องพานพบกับความทุกข์ทรมานจากการสูญเสีย ถ้าหากนกกระเรียนกระดาษที่หนูน้อยซาดาโกะ เพียรพับถึงหนึ่งพันตัว จะโบยบินเข้าไปในจิตใจของบรรดาผู้กระหายอำนาจให้เห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมอย่างสันติ คงไม่มีโศกนาฎกรรมอันแสนเศร้า “ทุกวันนี้ยังมีหยดน้ำมันที่ไหลซึมออกมาจากถังเชื้อเพลิงเบอร์ ๖ ของเรือประจัญบานแอริโซน่า ราวกับจะย้ำเตือนถึงว่า ณ ที่แห่งนั้นคือสุสานฝังเรือนร่างของเหล่าทหารและพลเรือนอเมริกัน บ้างก็บอกว่าเป็นน้ำตา บ้างก็บอกว่าน้ำมันหยดสุดท้ายจะหยุดไหลก็ต่อเมื่อผู้รอดชีวิตจากเรือลำนี้…”
เพราะความจริงในปัจจุบันคลี่คลายบาดแผลจากวันคืนอันโหดร้าย เวลาเปลี่ยนผ่านนิยามความจริงบางอย่าง“ศัตรูเมื่อวาน คือมิตรแท้ในวันพรุ่ง” คือถ้อยคำของ“เซนจิ อาเบะ”อดีตนักบินทิ้งระเบิดของกองทัพญี่ปุ่นที่ว่ามาร่วมรำลึกเหตุการณ์เพิร์ลฮาร์เบอร์ เขาวางดอกกุหลาบสองดอกลงบนแผ่นป้ายจารึกรายนามทหารผู้วายชนม์ ขณะที่ดิ๊ก ฟิสก์นายทหารเป่าแตรก็ยังคงทำหน้าที่เป่าแตรสดุดีเพื่อนๆ ที่หลับไหลไปชั่วกับชั่วกัลป์ ณ อนุสรณ์สถานเรือแอริโซน่า
“สงครามไม่มีผู้ชนะ ไม่มีผู้แพ้อาจจะไม่ถูกไปเสียหมด เมื่อพ่อค้าธรรมดาคนหนึ่งได้ทำในสิ่งที่หาญกล้า สมแล้วที่เขาควรจะได้รับการยกย่อง ซึ่งเป็นดอกผลจากคุณงามความดี”คำกล่าวสุนทรพจน์ของนายจอห์น โฮวาร์ดนายกรัฐมนตรีรัฐบาลออสเตรเลียในวันเปิดพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๑ ที่ได้ประกาศเกียรติคุณความกล้าหาญของนายบุญผ่อง สิริเวชชะภัณฑ์ วีรบุรุษแห่งทางรถไฟสายมรณะ…คือผู้ชนะที่แท้จริง.
ขอบคุณ : ภาพประกอบและข้อมูล อ้างอิงจากหนังสือรำลึก ๖๐ เพิร์ลฮาร์เบอร์ National Geographic และข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต