เรื่องและภาพ: ชูลี สุชาติ
อีกหนึ่งวันที่ฝนกระปริกระปรอยลงมาตั้งแต่เช้ามืด ก่อนออกจากห้องพักแฟลตตำรวจ เขาหยิบมือถือเปิดดูแอฟพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศ ที่รายงาน ลมตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่บริเวณจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาสจะมีฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน…
“ไปเที่ยวยะลาบ้านนุ้ยหม้ายป้า? ไปนะ นุ้ยอุตส่าห์หอบลูกมาหาแล้ว ” หลานสาวคนเล็กเอ่ยปากชักชวนหญิงชราไปเที่ยวที่บ้านเธอ
“ไป ! ที่ไหนเขาอยากให้เราไป…เราก็ไปนิ”นางตอบ
“แน่ใจะนะ จากทานพอไปยะลา ๔๐๐ กว่ากิโลเมตรนะ”เขาถามย้ำ
“ไม่ใช่มาทุกวัน”พูดจบนางหัวเราะชอบใจ
๑๐ โมงเช้าสองวันถัดมาเขาขับรถออกจากทานพอ ในรถมีอา-อาสะไภ้นั่งอยู่ด้านหลัง ส่วนหญิงชรานั่งด้านหน้า รถผ่านทางแยกปากพนัง เข้าสู่พื้นที่จังหวัดตรัง เมฆฝนเริ่มตั้งเค้าอยู่เบื้องหน้า แล้วฝนก็เทกระหน่ำลงมาจนแทบมองไม่เห็นเส้นทาง เขาชะลอความเร็วรถเพราะไม่คุ้นเคยเส้นทางและกลัวจะอุบัติเหตุ กระทั่งผ่านจังหวัดสงขลา เข้าสู่อำเภอหาดใหย๋ อีกไม่ไกลมากนักก็จะถึงยะลา สีหน้าท่าทางของหญิงชราไม่มีทีท่าเหน็ดเหนื่อย หรืออ่อนล้านั่งตัวตรงโหนที่จับมองสองข้างทางอย่างคนอารมณ์ดี ไม่น่าเชื่อหากนับเนื่องจากปทุมธานีถึงชุมพรร่วม ๔๙๐ กว่ากิโลเมตร จากชุมพรถึงทานพอ ๒๖๐ กว่ากิโลเมตร ทุก ๆ หลักบอกระยะทางนางไม่ยอมหลับพักผ่อน นั่งมองสองฟากถนนอย่างคนอารมณ์ดี
…ฝนหยุดตกแล้วในขณะรถแล่นเข้าสู่พื้นที่จังหวัดปัตตานี ที่มีชายหาด ลมทะลหอบต้นมะพร้าวจนไหวเอน ชายทะเลที่แทบจะจุดให้แวะท่องนักท่องเที่ยวอาจเป็นเพราะคลื่นทะเลลูกใหญ่ ๆ ที่โถมเข้าหาฝั่ง ไม่นานนักก็เดินทางมาถึงที่พักแฟลตตำรวจ…
หญิงชรากับอาสะไภ้ผู้เป็นอัมพฤกษ์จำต้องนั่งรออยู่ในรถเพราะบันไดพญานาคและหนทางขึ้นถ้ำนั้นค่อนข้างสูงชัน เด็กน้อยสองพี่น้องจากที่ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวเล่นสนุกสนาน วิ่งถลากลับมาให้พ่อและแม่อุ้มทันทีที่พ่อเจ้าเขา(ยักษ์เฝ้าประตูถ้ำ) ยืนถือไม้ตะบองยืนถมึงทึงเฝ้าอยู่ที่ปากทางเข้าถ้ำ พื้นกระเบื้องที่เปียกชุ่มไปด้วยหยดน้ำที่หยดลงมาจากผนังถ้ำด้านบน รูปปั้นฤาษีห่มผ้าลายเสือ พระพุทธรูปปางสมาธิเรียงรายตั้งแต่ประตูถ้ำจนถึงบริเวณห้องโถงใหญ่ที่มี พ่อท่านบรรทม(พระพุทธไสยาสน์) ว่ากันว่าแต่เดิมนั้นเป็นรูปปั้นนารายณ์บรรทมศิลป์ เนื่องจากมีภาพ-พญานาคแผ่พังพานปกพระเศียร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในยุคสมัยอาณาจักรศรีวิชัยกำลังรุ่งเรือง(ราวปี พ.ศ.๑๓๐๐) แต่ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างที่ชัดเจน ต่อมามีการดัดแปลงเป็นพระปางไสยยาสน์แบบหินยาน นักวิชาการ นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ต่างลงความเห็น ว่าพื้นที่จังหวัดยะลาบริเวณตำบลท่าสาป และตำบลหน้าถ้ำปัจจุบัน นั้นเคยมีชุมชนอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังปรากฏหลักฐานการค้นพบโบราณคดีและโบราณวัตถุที่ตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์
บรรยากาศภายในถ้ำดูวังเวงไร้ผู้คน อาจเป็นเพราะฝนตกหรือไม่ก็คงเพราะว่าโควิดกำลังระบาดหนัก ไม่ว่าโลกภายนอกจะเป็นเช่นไร หากโลกภายในถ้ำนั้นรู้สึกได้ถึงสายใยแห่งรักของครอบครัว ดอกไม้ป่าเบ่งบานส่งกลิ่นหอมรวยระริน แว่วบทเพลงดังมาจากลานหญ้าบริเวณข้ามสะพาน ชายวณิพกนั่งเป่าเมาท์ออร์แกนอยู่บนรถเข็น ถุงพลาสติกใส่เงิน ขวดน้ำ เขาควักธนบัตรสีเขียวยื่นให้หลานชายตัวน้อย ในวันฝนตกพรำๆ มองทางไหนก็ร้างผู้คน ร้านขายน้ำ เครื่องดื่มตั้งแผงรอการมาของนักทัศนา ทว่าฝนไม่มีทีท่าว่าจะหยุด…
“อย่าเพิ่งให้ ฟังคุณลุงเขาเป่าให้จบเพลงก่อนนะ”เขาดึงเด็กน้อยที่มีทีท่าสงสัยเข้ามาใกล้
“ลุงเขากำลังเล่นเพลงให้เราฟังไม่ได้มาขอทาน”…
ทันทีที่ประตูเปิดเจ้าหนูน้อยร้องตะโกนบอกหญิงชรา ว่าเอาบุญมาฝากนางสวนทันควัน
“ไม่เอา เนือยข้าวอิตายแล้วนิ!”
โปรดติดตาม ตอนต่อไป