เจริญจิต (1)

เรื่องและภาพ : ชิด ชยากร

ในตลาดเก่าเคยมีโรงภาพยนตร์ 3 โรง หลายท่านอาจจะทราบเพียงว่ามีแค่ 2 โรง คือ เจริญจิตที่อยู่ตลาดเหนือและกลั่นแก้วที่อยู่หน้าบ่านซ้าน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีอีกโรงหนึ่งที่เลิกไปก่อนแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าโรงนั่นชื่ออะไร แต่ตั้งอยู่ในที่ดินเดิมของโรงเรียนสถาพรพิทยา(สุทธินอนุสรณ์) โดยเจ้าของโรงหนังเช่าที่จากโรงเรียน ต่อมาเมื่อโรงหนังเลิกกิจการ บริเวณนั้นกลายเป็นอาคารเรียนของนักเรียนชั้นประถม ปัจจุบันที่ดินแปลงนี้ถูกขายไปนานแล้ว อาคารเรียนเดิมที่เคยเป็นโรงหนังถูกรื้อออกไปหลายสิบปีแล้ว

วันนี้จะพูดถึงเพียงโรงเดียวคือ “เจริญจิต”
เจริญจิตตั้งอยู่ริมคลองปิ มีลักษณะเป็นโรงเรือนใหญ่มุงสังกะสี ผู้ก่อตั้งคือ “แปะหลง” หรือนายหลง โก้สกุล ผมพยายามสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคน เพราะอยากทราบว่าเปิดมาตั้งแต่เมื่อใด ปิดเมื่อใด แต่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ลูกๆแปะหลงเองก็จำไม่ได้ มีเพื่อนผมคนหนึ่ง เขาเล่าให้ฟังว่า เขาย้ายจากต่างจังหวัดมาอยู่ที่โรงหนังเจริญจิตตอนอายุ 2 ขวบ ผมมานั่งนับจากปีเกิดของเขา สันนิษฐานได้ว่า โรงหนังเจริญจิต น่าจะเปิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2507

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่าแปะหลงจะเริ่มทำธุรกิจโรงหนัง จึงต้องหาซื้อเครื่องฉายหนัง ในที่สุดไปได้เครื่องฉายจากโรงหนังที่จังหวัดนราธิวาส มิได้เพียงเฉพาะเครื่องฉายเท่านั้น ยังได้คนควบคุมเครื่องฉายหนังและคนวาดรูปหนังมาจากที่แห่งเดียวกันด้วย ผู้ควบคุมการฉายหนังคนแรกของเจริญจิต คือน้าเพียร ๆ พาครอบครัวย้ายมาอยู่ที่ตะกั่วป่าด้วย ส่วนช่างศิลป์คนแรกชื่อจิตร …มาจากนราธิวาสเหมือนกัน สมัยนั้น-มีการโฆษณาก่อนฉายหนังตัวอย่างและหนังเรื่อง โดยจะฉายเป็นสไลด์ทีละเฟรม สไลด์ที่ใช้ทำด้วยกระจกใส ทาสีขาวรองพื้นทั่วทั้งแผ่น แล้วเขียนข้อความโฆษณาและลวดลายด้วยปากกาคอแร้ง ใช้ปากกาแหลมกรีดปละขูดสีที่ทาบนกระจกออก แล้วแต่งสีด้วยกระดาษแก้ว แล้วนำไปฉายผ่านเครื่องฉายสไลด์

หน้าโรงหนัง-สิ่งที่ดึงดูดใจแฟนหนังมากที่สุดคือป้ายคัดเอาท์ขนาดใหญ่ แต่จะดึดดูดมาขนาดไหนขึ้นอยู่กับนโยบายของเจ้าของและฝีมือของคนเขียนรูป การเขียนป้ายหน้าโรงหนังสมัยนั้น ช่างจิตร-ใช้ผ้าใบขึงตึงบนกรอบขนาดใหญ่ แล้วเอาหนังควายต้มน้ำในถังใบใหญ่ ต้มและเคี่ยวจนหนังควายกลายเป็นของเหลวข้นเหนียว ช่างจะเอาหนังความเคี่ยวมาทารองพื้นบนผ้าใบ จากนั้นจึงเขียนภาพด้วยสีน้ำมัน


122977835 3764024343649305 6475248387433780173 o


การเขียนภาพของช่างส่วนมากจะมีการตีสเกลก่อนเขียน เพื่อจะให้ได้ภาพที่มีความเหมือนจริงมากที่สุด ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความชำนาญของช่างแต่ละคน นอกจากป้ายหน้าโรงหนังแล้ว สมัยนั้นยังมีรถแห่โฆษณาหนัง โดยใช้รถสองแถว ส่วนทีเป็นด้านข้างทั้งสองด้านจะมีการวาดรูปหนังเป็นแผ่นป้ายขนาดใหญ่เหมาะกับตัวรถ แห่ไปทั้งตลาดเก่าและย่านยาว บางม่วง ช่วงที่รถแห่จะมีการพูดกระจายเสียงโฆษณาไปด้วย และยังมีการแจกใบปลิวของหนังเรื่องนั้น ๆ ด้วย ป้ายโฆษณาที่ดูยิ่งใหญ่และหรูหราเป็นที่ดึงดูดใจมากคือหนังเรื่ององคุลีมาล ที่ตัดแผ่นไม้ฉลุเป็นรูปพระพุทธเจ้าและองคุลีมาลสวยงาม พี่ต้อย-ลูกสาวแปะหลงเล่าให้ฟังว่า “ช่วงที่หนังเรื่อง เป็ดน้อย ที่มีสุทิศา พัฒนุชเป็นนางเอกเรื่องแรก ป๋าลงทุนทำเป็นสระเล็ก ๆ หน้าโรงหนัง เอาเป็ดมาปล่อยให้ว่ายน้ำเล่น เป็นที่สนใจของคนทั่วไปมาก”

สมัยนั้น-หนังเสียงในฟิล์มมีเฉพาะหนังไทยบางเรื่อง นอกนั้นเป็นหนังเงียบ นักพากษ์หนัง-จึงเป็นสีสันสำคัญต่อความสนุกของหนังเรื่องนั้นๆ ห้องนักพากษ์จะอยู่ชั้นบนติดกับห้องฉายหนัง และมีเขียนป้ายติดไว้หน้าห้องว่า “ห้ามเข้า” ที่ปิดไว้เช่นนั้นเป็นเพราะว่าในห้องพากษ์ นักพากษ์มิเพียงต้องใช้สมาธิอย่างมาก ตาต้องดูทั้งบทหนังและต้องดูหนัง แค่นั้นยังมิพอยังต้องทำ sound effect ตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเสียงฟันดาบ ยิงปืน เสียงม้า เสียงช้าง เสียงควาย สารพัดเสียง เรียกได้ว่ามือไกว ดาบแกว่ง เท้ากระทืบ ปากขยับไปตามลีลาของตัวละครในหนังตลอดเวลา


ยุครุ่งเรืองของตะกั่วป่าเป็นสมัยเหมืองแร่ มีผู้คนอาศัยอยู่มากมาย หนังแต่ละเรื่องฉายกี่วัน-ขึ้นอยู่กับความนิยมชมชอบของคนดู บางวันฉายกันหลายรอบ ถ้าเป็นหนังดัง จะมีฉาบรอบบ่าย-รอบค่ำ-และรอบดึก เรียกได้ว่าเลือกเวลาดูกันได้เลย สมัยนั้นตะกั่วป่าเหมือนเมืองที่ิตื่นตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าเป็นหนังที่ไม่ดังปกติจะฉายสองคืน ถ้าเป็นหนังดังจะฉายสามคืนขึ้นไป เท่าที่ผมจำได้ หนังที่ทำรายได้ให้กับเจริญจิตมาที่สุดคือหนังอินเดียเรื่อง “ช้างเพื่อนแก้ว” ที่แสดงโดยราเยส คานนาและมุมตัส ฉายติดต่อกัน 7 วัน 7 คืน คนดูแน่นโรงทุกรอบทุกวัน ไม่รู้ว่าแห่กันมาจากไหนมากมายจริง ๆ ส่วนหนังไทย-ถ้าผมจำไม่ผิดคือเรื่อง “ทอง” ของฉลอง ภักดีวิจิตร ที่คนดูเบียดเสียดกันแทบจะไม่ต้องเดิน เจริญจิตส่วนมากจะฉายหนังไทยและหนังอินเดีย มีหนังจีนและหนังฝรั่งบ้างแต่ไม่มากนัก พี่ต้อยเล่าให้ฟังว่า-หนังที่เลือกมาฉายแต่ละเรื่องนั้น แปะหลงจะไปติดต่อกับเอเย่นต์สายหนังแถวโรงหนังเฉลิมกรุง แถววังบูรพา กรุงเทพฯ เมื่อตกลงกันได้แล้วจะมีการวางโปรแกรมว่าวันไหนจะฉายเรื่องอะไร จะฉายกี่วัน เมื่อถึงเวลาจะมี “เช็คเกอร์หนัง”นำฟิล์มหนังมาให้ที่โรง เมื่อฉายเสร็จเช็คเกอร์หนังจะนำหนังไปฉายที่อื่นต่อ

ก่อนหนังจะเริ่มฉายจะมีการเปิดเพลงมาร์ชา เพื่อบอกให้ผู้คนในบริเวณนั้นรู้ว่าหนังกำลังจะฉายแล้ว เมื่อหนังจบหลังเสร็จสิ้นเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้ว ช่วงที่ผู้ชมเดินออกจากโรงมีการเปิดเพลง ..ลาก่อนสำหรับวันนี้ นอกจากมีการฉายหนังแล้ว ทางโรงยังมีการให้เช่าเพื่อการละเล่นอื่นๆ ซึ่งบางครั้งจะมีลิเก ละครเวที วงดนตรีต่างๆ ที่บ่อยที่สุดคือวงดนตรีลูกทุ่ง สมัยนั้นวงการลูกทุ่งบูมและตื่นตัวกันมาก มีวงดนตรีเกิดขึ้นจำนนวนมาก วงดนตรีเหล่านั้นจะมีการเดินสายมาแสดง ถ้ามาที่ตะกั่วป่า-เกือบทุกคณะต้องมาเช่าโรงหนังเจริญจิต ไม่วาจะเป็นทูล ทองใจ, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, ชาย เมืองสิงห์, ไพรวัลย์ ลูกเพชร, สุรพล สมบัติเจริญ,​ สายัณห์​ สัญญา​ ฯลฯ

อ่านต่อตอน​ 2​ นะครับ