บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ รินทร์

ภาพ : ศรยุทธิ์ รุ่งเรือง

พื้นระเบียงทางเดินของอาคารเรียน โรงเรียนวัดบางไซ  บรรดาเด็กนักเรียนชั้น ป.4 ป. 5 ป. 6 กำลังสนุกสนานอยู่กับการวาดภาพ ระบายสี ด้วยคัตเติ้ลบัต (อุปกรณ์ใช้แทนพู่กัน) บ้างก็ใช้นิ้วมือ จุ่มลงในจานผสมสี-สีผสมอาหารแล้วละเลง เป็นรูปร่างตามจินตนาการลงบนกระดาษทดลอง  งานศิลปะที่ถ่ายทอดออกมาจากความรู้สึกส่วนลึกของจิตวิญญาณ โดยไม่จำเป็นต้อง ตีกรอบ ล้อมไว้ด้วยหลักการ ทฤษฏีความถูกต้อง การเรียนรู้ศิลปะทำให้คนมีความละเอียดอ่อนในอารมณ์ พัฒนาเป็นรสนิยมในการใช้ชีวิต ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ

“ผมกับศักดิ์สิริก็ไปกันเองโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย ประสานงานกับโรงเรียนแจ้งให้ทราบก่อนว่าเราจะขอเวลาในการสอนศิลปะ แต่ไม่ได้บอกหรอกนะว่าจะต้องทำอะไร คือไปแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยแล้วก็กลับ ครูไม่ต้องเข้าแถวกล่าวขอบคุณหรือรับรองอะไรให้มากมาย คือเราคิดว่าเราทำกันแบบสบายๆ เด็กก็จะสำเร็จโรงเรียนครูบาอาจารย์ก็เห็นดีเห็นงาม ถ้าเด็กได้ทำงานอย่างอิสระ คือเด็กเป็นศูนย์กลางจริงๆ ไม่ใช่เอาครูเป็นศูนย์กลาง ที่เรามีสีผสมอาหาร มีอะไรก็ใช้ได้กระดาษทิชชู เศษไม้ ใบหญ้าหรืออะไรก็ตามนำมาประยุกต์ สร้างเป็นภาพ สร้างสรรค์ผลงานตามจินตนาการของเด็ก ๆ เสร็จแล้วก็คัดเลือกแต่ละมาใส่กรอบ แขวนที่บริเวณผนังระเบียงที่ใครผ่านไปผ่านมา พวกเราเรียกว่า Gallery in school” ครูศุภชัยบอกเล่าแรงบันดาลใจในกิจกรรมสอนศิลปะ หรือ Gallery in school

งานนครสวรรค์ 17 18สิงหาคม 324

แต่สิ่งที่ผมรู้สึกและสัมผัสได้ถึงความเมตตาของคุณครูผู้สอนที่มักจะเรียกเด็กนักเรียนด้วยความเอ็นดูว่า “ลูก” โรงเรียนที่มีแค่เพียงรองผู้อำนวยการและครูผู้สอนอีก ๔ คน กับจำนวนนักเรียนทุกระดับชั้นที่มีแค่เพียง ๓๔ คนส่วนผู้อำนวยการเพิ่งจะเกษียณอายุราชการไปไม่นาน มิพักต้องพูดถึงครูสอนศิลปะ ซึ่งอนุมานได้ว่ามีหลายโรงเรียนในชนบทโดยทั่วไปที่ยังขาดแคลนครูสอนศิลปะ นึกถึงบางถ้อยคำของ ครูจิ๋ม ลุงจิ๋มที่พูดกับผมก่อนหน้านี้

“ตั้งแต่บรรจุปี พ.ศ. 2526 กระทั่งเกษียณอายุราชการก็พบว่าจริงๆ แล้วที่เด็กเราไม่มีความรู้ความสามารถในเรื่องของงานศิลปะ เพราะว่าไม่มีต้นแบบที่ดี ต้นแบบก็คือหนังสือเรียน รอคำสั่งให้เปิดหน้านั้นก็เปิดไปเหมือนกับว่าครูก็ไม่รู้ศิลปะ เราควรที่จะต้องส่งเสริม ผมเองจบทางคณิตศาสตร์ แต่ผมใช้ศิลปะเข้ามาร่วมกับคือคือศาสตร์กับศิลป์ ถ้าคนในแต่ละบุคคลมีศาสตร์และศิลป์มันก็สามารถจะพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่แนวความคิดนี้ต้องเรียนทั้ง ๆ ที่เรื่องจิตวิญญาณเป็นเรื่องสำคัญ แต่การศึกษาระดับชาติไม่ได้มองเห็น เน้นแต่ในเรื่องของการบริหารสมอง ซะมากกว่า ไม่สนใจในเรื่องของจิตใจ ผมเองก็ได้ทำงานนอกจากจะไปตามโรงเรียนแล้วบางทีเสาร์-อาทิตย์เด็กกลุ่มที่สนใจเรื่องศิลปะก็จะมาหาลุงจิ๋ม มาทำกิจกรรมที่บ้านศิลปะศุภ’กณิษฐ

งานนครสวรรค์ 17 18สิงหาคม 370

 ด้วยแนวคิดการทำงานแบบเชิงรับคือบ้านศิลปะศุภ’กณิษฐ“ พื้นที่แสดงงานศิลปะให้คนทั่วไป นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาเยี่ยมชม แต่การทำงานเชิงรุกด้วยการเดินทางไปสอนศิลปะให้กับเด็กที่โรงเรียน ซ้ำยังช่วยป้องกันความปลอดภัย

การเดินทางนำมาซึ่งแง่คิดและมุมมองที่เปลี่ยนไปเพียงเปิดใจยอมรับ เรียนรู้ นาทีแห่งความปีติเมื่อได้เห็นรอยยิ้มของเหล่าศิลปินตัวน้อย กับภาพวาดที่ถืออยู่มือ แววตาใสซื่อบ่งบอกถึงวัยวันแห่งความสดใส ไม่ว่าโลกภายนอกจะวุ่นวาย สับสนเพียงใดหากในจิตใจที่สัมผัสได้ถึงความสุข  เราคาดหวังจะเห็นคนรุ่นใหม่ เห็นสังคมที่มีความสุข มีความมั่นคงในชีวิต แต่ทุก ๆ ความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ  เพียงบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการแบ่งปันให้งอกงาม แผ่ขยายไปสู่ครอบครัว สังคม เพียงเท่านี้ก็เป็นรากฐานที่หยั่งลึกให้ประเทศชาติมีความมั่นคง วัฒนาไปตามกาลสมัย.

งานนครสวรรค์ 17 18สิงหาคม 394

ขอบพระคุณ  

ดร.ศุภชัย สุวรรณกนิษฐิ์ 

อ.กิตติศักดิ์ มีสมสืบ

ครูวิชุดา ทิมประทุม  รักษาการผู้อำนวยการ คณะครูและเหล่าศิลปินตัวน้อยแห่งโรงเรียนวัดบางไซ ต.พิกุล อ.ชุมแสง  จ.นครสวรรค์