บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ รินทร์
“ไม่มีเวลา” คำๆนี้ที่เรามักใช้กันบ่อย จนดูเหมือนว่าแต่ละวัน ที่มี ๒๔ ชั่วโมงเราแทบไม่ได้ทำอะไรเลย นอกเสียจากหายใจทิ้งขว้างไปวัน ๆ โดยเฉพาะยามที่เรากำลังตกอยู่กับสภาวะเคร่งเครียด อยู่กับสถานการณ์ ที่ไม่พึงประสงค์
อยู่ในห้วงอารมณ์ที่จิตใจหม่นเศร้า ยิ่งการนั่งจับเจ่าอยู่ในโรงพยาบาล ภาพที่มองไปโดยรอบ แล้วรู้สึกหดหู่อย่างบอกไม่ถูก จำต้องหาสิ่งรื่นเริง หรือเดินไปไหนสักแห่งเพื่อลดทอนความห่อเหี่ยวที่เกาะกินใจ
หลายท่านที่ติดตามหรือเข้ามาคอมเม้นในเฟสบุ๊คของผม ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีสภาวะจิตใจที่ย่ำแย่อยู่ใช่น้อย ทว่าเมื่อเห็นภาพถ่าย ข้อความที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลก็คงแปลกใจ พาลสรุปกันว่า “ไอ้หมอนี่เอาเวลาจากไหน ไปเตร็ดเตร่ ทั้ง ๆ ที่บอกว่ากำลังเฝ้าแม่อยู่โรงพยาบาล?”
ช่วงเช้าที่ห้องอายุรกรรม เวลา ๐๘.๐๐-๑๐.๐๐ น เป็นช่วงที่ทางคุณหมอพยาบาล จะตรวจผู้ป่วย รวมทั้งแม่บ้านจะทำความสะอาดภายในห้องผู้ป่วย บรรดาญาติๆ จะถูกอัญเชิญให้ออก เดิมทีก็ไม่รู้จะไปไหน เพราะยังไม่รู้จักคุ้นเคยกับใคร
ต่อเมื่อมานั่งตรงระเบียงที่พักรอ เริ่มมีปฎิสัมพันธ์พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากคนไม่รู้จัก นำไปสู่มิตรภาพที่เข้าอกเข้าใจ ในสถานการณ์เดียวกัน
แล้วการเดินทาง เพื่อพักวางความตึงเครียดจึงเริ่มขึ้น ผมนัดหมายกับเพื่อนใหม่ไปเที่ยวตลาดยามเช้า ส่วนหนึ่งเป็นการหาเสบียง อีกด้านคือตระเวณดูอะไรไปเรื่อยเปื่อย อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาอาการจิตตก ลงไปบ้าง และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
ตลาดเทศบาลเมืองปทุมฯ ไม่ใหญ่มาก ยวดยานก็น้อย เหมาะแก่การเดินชมเมือง แม้ใจอยากจะนั่งรถสามล้อชมเมือง แต่อีกใจอยากเดินเก็บบรรยากาศสองฝั่งถนนมากกว่า ซึ่งเพื่อนร่วมทางก็สนับสนุนในความคิดนี้ พูดถึงรถจักรยานสามล้อที่ได้รับใช้กันแพร่หลาย
ในยุคสมัยหนึ่ง จากรถลากหรือรถเจ๊ก(ต้องขออภัยตามคำเรียกเดิม) มีกำเนิดขึ้นในประเทศไทย เป็นครั้งแรก ใน ปี พ.ศ ๒๔๗๖ ที่จังหวัด นครราชสีมา โดยนาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ แต่ในยุคปัจจุบัน ลดน้อยลง
เราเดินมาถึง เรือน ไทยโบราณชั้นเดียว ทรงมะนิลา หน้าจั่วหลั่นสองชั้น ชั้นบน เรียกว่า “พรหมหน้าจั่ว” ตีเป็นบานเกล็ด สองแถว และมุขจั่วล่างประดับครุฑ ซึ่งเป็นตรา แผ่นดินและเครื่องหมายทางราชการลักษณะนูนสูง นิยมสร้างในสมัยรัชกาล ที่ ๕ ซึ่งเรือนหลังนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๖๐
เรือนไทย ที่เรียกขานกันว่า “จวนผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี”ฟากถนนตรงข้ามถัดจากอาคารสาธารณสุขจังหวัด บ้านไม้สองชั้นมีแผ่นป้ายระบุ “โอสถสภา สร้างเมื่อ ๒๔๗๒ ” เป็นอาคารไม้ จั่วตัด(แบบกว้าง) จากปี พ.ศ ๒๔๗๒ ถึงปี พ.ศ ๒๕๕๙ อายุเกือบ ๙๐ ปี ที่อยู่คู่เมืองปทุมธานี
การเดินทางยังไม่สิ้นสุด แต่เข็มนาฬิกาบอกว่าใกล้ถึงเวลา เข้าเยี่ยมผู้ป่วย เราจำต้องเร่งกลับโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม เวลา ๒ ชั่วโมง นั้นได้ช่วยบรรเทาภาวะจิตตกลงไปบ้าง มันอาจจะเป็นฝันดี หลังจากที่ต้องผจญอยู่กับฝันร้าย ในห้วงเวลาที่ยาวนาน และถือได้ว่าเป็นการพักวางชั่วขณะหนึ่ง
ซึ่งเวลาของผม คุณและทุกผู้คนบนโลกมี ๒๔ ชั่วโมงเท่าๆ กัน น่าแปลกใจที่…ใครบางคนกลับบ่นว่า “ไม่มีเวลา”
ติดตามเรื่องเล่า “เมืองปทุมธานี”ตอนต่อไป
๐๙ ธันวาคม ๒๕๕๙
priligy 30mg tablets Every patient will have a different experience and opt for a different treatment option