บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ รินทร์
แดดอ่อนๆตอนเช้ากลุ่มสาวๆและแม่บ้านชาวมอญนั่งล้อมโต๊ะแบบเรียบง่ายริมถนน แม่ค้าหยิบเส้นขนม ราดน้ำยา ใส่พริก เครื่องปรุง อาหารหลักที่เดินไปทางไหนก็เห็นภาพชาวมอญนั่งล้อมวงกินกันอย่างเอร็ดอร่อย หรือบางคนใส่ถุงพลาสติกหิ้วกลับบ้าน
“คะนอมจิน” หรือ บ้านเราเรียกขานกันว่า”ขนมจีน” เกี่ยวข้องอะไรกับเมืองจีนหรือไม่? และเรื่องราวของอาหารชนิดแปรรูปจากแป้งเป็นเส้นราดด้วยน้ำยา น้ำซุปหรือซ๊อสแบบชาติตะวันตกนั้นมีความน่าสนใจ เป็นสิ่งยืนยันถึงวัฒนธรรมทางด้านอาหารที่เชื่อมโยงตะวันตก ตะวันออกและแฝงเร้นอยู่ในชุมชน สังคม เราคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านั้นโดยไม่รู้สึกแปลกแยก หรือตั้งข้อสงสัยถึงความเป็นมา
“ขนมจีน”ก็เป็นหนึ่งในนั้น มีสำเนียงขานที่แตกต่างกัน ชาวเหนือเรียกขานกันว่า “ขนมเส้นหรือข้าวเส้นหรือข้าวหนมเส้น” ส่วนชาวอีสานเรียกขาน ข้าวปุ้น อีสานใต้เรียกว่า นมปันเจ๊าะ หรือ นมรูยหรือ นมเวง คล้ายกับกัมพูชา ขนมจีนน้ำยากับผักสด ผักต้มและลวกของคนภาคใต้และภาคกลางและถ้าจะพูดถึงระดับอาเซียน เวียดนาม เรียกขนมเส้นคล้ายขนมจีนว่า บุ๋น ส่วนลาวเรียกว่าข้าวปุ้น อาหารประจำชาติเมียนมา เรียกว่า โหมะน์ฮี่นก้า หรือ หม่อฮิงคา
จากเพจรามัญคดีได้เขียนถึงที่มาของขนมจีนซึ่งตรงกับข้อสันนิษฐานของเหล่าผู้รู้ คำๆ หนึ่ง ในอักขรวิธีภาษามอญว่า “ขนํ ” ซึ่งอ่านว่า “หะนอมหรือ คะนอมแปลว่า “เส้น” ส่วน “จิน” (စိန္) ที่เกิดจากการเรียกของคนไทยแปลว่า “สุก” กินกับน้ำยาที่มอญเรียกว่า “ฮะก่ม” หรือ “ทะก่ม” (ထဂမ္)
หลังอิ่มอร่อยกับคะนอมจินไปหลายชาม คุณอรัญญาชักชวนเดินชมตลาดสด เดินผ่านบ้านหลังหนึ่งมองเข้าไปใต้ถุนบ้าน หญิงสาวเจ้าของบ้านกำลังก้มหน้ากัมตานวดแป้ง ไอน้ำพวยพุ่งขึ้นมาจากะทะร้อนๆ เธอนำก้อนแป้งยัดใส่กระบอกค่อยๆ บีบเป็นเส้น ลากวนในกะทะน้ำร้อน แล้วค่อยๆ ตักใส่ตะกร้าก่อนจะนำไปแช่ในน้ำเย็น บ้านหลังนั้นทำคะนอมจินขาย
ไม่ว่าที่มาของขนมจีนจะมาจากไหน? ใครเป็นผู้ริเริ่ม? ทว่าคุณูปการทางด้านวัฒนธรรมอาหารที่บ่งบอกถึงสายสัมพันธ์ ความเชื่อมโยง แม้จะมีความแตกต่างมีความหลากหลาย หากแต่ในเนื้อแท้คือภูมิปัญญาทางความคิดของมนุษย์นั่นเอง…
๏ ถึงวังยับยั้งศาลาลัย วิเสทในยกโภชนามา เลี้ยงเป็นเหล่าเหล่าลาวคอยชี้ ข้าวเหนียวหักหลังดีไม่เมื่อยขา แจ่วห้าแจ่วหกยกออกมา ทั้งน้ำยาปลาคลุกหนมจีนพลัน น้ำพริกลูกหมากมาดไข่ปลาบึก ข้อยนึกทำให้แซบเป็นหยังซั่น เลี้ยงแล้วสำเร็จเสร็จพลัน พากันมาอยู่โรงแขกเมือง ฯ ***บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนกินเลี้ยง คราวที่เจ้าล้านช้างถวายนางสร้อยทองแก่พระพันวษา