บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ รินทร์

เช้าวันสบายๆ และทุกวันอาจเป็นวันสบายของชายชราวัย ๘๒ ฤดูกาลนั่งยิ้มทักทาย ต้อนรับผู้มาเยือนอย่างอารมณ์ดี ชีวิตในวัยเด็กตั้งแต่จำความได้ก็ต้องเจอกับมหาสงครามเอเชียบูรพา กระทั่งวัยหนุ่มยึดอาชีพทำนาสวนมะนาว กล้วยไข่และมะละกอ หลายปีหมดไปกับความพยายามค้นหา ‘เพชรน้ำเอก’ท้ายที่สุดก็หวนสู่วิถีดั้งเดิม ลงแรงปลูกตาลในพื้นที่ ๑๐ ไร่ ด้วยคุณลักษณะของสภาพภูมิอากาศอีกทั้งตาลโตนดเป็นพืชประจำท้องถิ่นและสิ่งสำคัญ คือมันสามารถดูแลตัวเองไม่ต้องใส่ปุ๋ยฉีดสารเคมี จากคำบอกเล่าของคนรุ่นเก่าที่ว่ากันว่าต้องใช้ระยะเวลาในการปลูกถึง๑๘ ปีซึ่งมันไม่จริงเสมอไปเพราะลุงถนอมใช้เวลาเพียงแค่ ๑๒ ปี ก็ได้ผลผลิต

624685078

“คนไทยยุคนี้น่าเป็นห่วงลืมตาขึ้นมาก็กินแต่สารพิษ ต่อไปหาคน ๘๐-๙๐ ปีคงหาไม่ได้แล้วแค่ ๕๕-๖๐ ปี ร่างกายก็รวนหมดแล้วขอถามหน่อยภาคใต้ปลูกอะไร? ตะวันออก? ภาคเหนือ,ภาคกลางปลูกอะไรหนีสารเคมีพ้นมั๊ย?! ทุกอย่างต้องใช้สารเคมีแม้แต่อาหารที่กินเข้าไปคุณรู้มั๊ย?! ว่ากินสารเคมีไปเท่าไหร่? ตัวอย่างง่ายๆ คนไทย ๑๐๐ ครัวเรือนหุงข้าวต้มแกงน้อยกว่าครึ่งเสียด้วยซ้ำ ไม่เหมือนคนสมัยก่อนคำว่าอาหารสำเร็จรูปคุณกินสารเคมีไปเท่าไหร่? เราเคยวิจัยกันมั๊ย?!”

เจอประโยคคำถามเหล่านี้ทำให้ผมอึ้งในความคิดของคุณลุงถนอม ภู่เงิน เจ้าของสวนตาลจ.เพชรบุรีพาให้นึกถึงวิกฤติการณ์คนเมืองกรุงและปริมณฑลที่กำลังเผชิญกับการสูดลมหายใจเอามลพิษทางอากาศกินอาหารปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี

6246881f9

แดดอ่อน ๆ ตอนเช้าชายหนุ่มวัยกลางคนเดินมาพร้อมกับกระบอกไม้ไผ่และมีดปาดตาล เขาไต่บันไดไม้ไผ่ขึ้นไปเก็บกระบอกไม้ไผ่ที่รองรับน้ำตาลสดจาก “งวงตาล” ปีนข้ามจากยอดตาลต้นหนึ่งไปยังอีกต้นด้วยความชำนาญ ทุก ๆ วันเขาจะปีนเก็บน้ำตาลสดวันละ ๒ รอบ แม้จะสุ่มเสี่ยงกับการตกพลัดตกต้นตาลซึ่งก็นับว่าน้อยครั้ง หากไม่ประมาท เวลาที่เหลือก็พักผ่อนและปลูกผัก ทำสวนผลไม้ ใช้ชีวิตสบาย ๆ ในสวนตาลที่ปราศจากสารเคมี

ขอบคุณ: ลุงถนอม ภู่เงิน เจ้าของสวนตาลโตนด ต.ถ้ำรงค์ อ.บ้านลาดจ.เพชรบุรี