บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ รินทร์

“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว” ประโยคที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีกับฉากเปิดเรื่องเล่านิทาน ในยุคที่ไร้แสงนีออน วงล้อมรอบกองไฟหรือใต้แสงตะเกียง พระจันทร์ หมู่ดาวบนฟากฟ้า ธรรมชาติสิ่งรายล้อมรอบกายผูกโยงกับ”ความรัก ความศรัทธา ความเชื่อ”  ล้วนมีที่มาพื่อให้ความบันเทิงสนุกสนาน สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัยให้กับคนภายในครอบครัว มีแง่คิด คติสอนใจแฝงอยู่ในนั้น  เฉกเช่นเดียวกับนิทาน เรื่อง “เจ้าหญิงทอผ้า” กับ “ชายเลี้ยงวัว”ของชาวญี่ปุ่น

ณ ปราสาทบนฝั่งตะวันออกของทางช้างเผือก “เจ้าหญิงโอริฮิเมะ” บุตรสาวของเทพเจ้าเทนเทย์ ผู้ครองสวรรค์ เธอมีฝีมือเรื่องการทอผ้าที่สวยมากจนเป็นที่เลื่องลือในหมู่เทพ เจ้าหญิงโอริฮิเมะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทอผ้า อีกฝากของทางช้างเผือกมีชายหนุ่มเลี้ยงวัวที่กล้าหาญและหล่อเหลามีชื่อว่าฮิโกโบชิ และแล้วเมื่อทั้งคู่ได้พบกันต่างตกหลุมหลงรักจนได้แต่งงานกัน

แต่แล้วทั้ง 2 ต่างลุ่มหลงมัวเมาในความรักจนไม่เป็นอันทำงาน เจ้าหญิงโอริฮิเมะไม่ยอมทอผ้า ส่วนฮิโกโบชิก็ละทิ้งวัวปล่อยให้ฝูงวัวเดินเพ่นพ่านไปทั่วสวรรค์  เทพผู้ครองสวรรค์รู้สึกผิดหวังต่อการกระทำของทั้งคู่ จึงจับทั้ง 2 แยกจากกันโดยใช้ “แม่น้ำแห่งสวรรค์ หรือ อะมาโนะกาวะ” มากั้นกลาง

เจ้าหญิงอริฮิเมะคิดถึงฮิโกโบชิจนไม่สามารถกลับไปทอผ้าได้ดังเดิม ความเสียใจของลูกสาวทำให้บิดาใจอ่อน ยอมให้ทั้ง 2 ได้กลับมาเจอกัน ภายใต้เงื่อนไข  1 ครั้งใน 1 ปี ซึ่งก็คือวันที่ 7 เดือน 7  แต่ต่างฝ่ายต่างไม่สามารถข้ามแม่น้ำแห่งสวรรค์ได้ ฝูงนกกางเขนบินผ่านมา เกิดความสงสารจึงพากันเรียงแถวเป็นสะพานเพื่อให้ทั้งคู่เดินข้ามแม่น้ำมาหากันได้ นอกจากนั้นฝูงนกกางเขนก็ให้คำสัญญาว่าจะกลับมาหาทั้งคู่ในทุกๆ ปี เพื่อเป็นสะพานให้ทั้ง 2 ได้เจอกัน ยกเว้นปีที่ฝนตก ทั้งคู่จะไม่สามารถพบกันได้ และต้องรอเวลาปีถัดไป นิทานเรื่องนี้คือที่มาของวันแห่งความรักอีกวันหนึ่งของชาวญี่ปุ่นคือวันทานาบาตะ 

แต่ละชนชาติต่างมีเรื่องเล่า ตำนาน นิทานที่มี “ความรัก โลภ โกรธ หลง” เป็นบทสรุปที่จะจบลงด้วยประโยคคำถาม “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…”

ในยุคสมัยที่ปัญญาประดิษฐิ์กำลังเข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิต การศึกษาเล่าเรียน หน้าที่การงานผ่านแอฟพลิเคชั่นต่าง ๆ ดูเหมือนว่าบางสิ่งกำลังจะเลือนหายไป เช่นเดียวกับวงล้อมรอบกองไฟหรือใต้แสงตะเกียงและวงเล่านิทานพร้อมกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาทดแทน.

ภาพกิจกรรม : เทศกาลทานาบาตะ จัดโดย,หมู่บ้านญี่ปุ่นอยุธยา