เรื่องและภาพ: อัยย์ รินทร์

เส้นทางที่คดเคี้ยวของอำเภอขุนยวม ไม่ค่อยจะมีใครรู้หรอกว่าบริเวณ ณ ที่แห่งนี้ มีอนุสรณ์สถานแห่งการรฦกถึงเพื่อนร่วมทางที่มิอาจนำพากันไปสู่จุดหมาย ศาลาน้อยหลังคาสามชั้น ส่วนบนผสมศิลปะไทใหญ่ ใกล้กันมีแท่นศิลาสีดำและบริเวณฐานสลักข้อความ  ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านพ้นไปในนานสักปานใด ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอาจทำให้ภาพในวันวารที่เคยเด่นชัดกลับเลือนลาง

ทว่าในรอยความทรงจำของทหารล่ามชาวญี่ปุ่นฉีดน้ำเข้าไปในปาก จมูกของทหารเชลยศึกชาวตะวันตกผู้เคราะห์ร้าย ความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานกับน้ำที่เต็มท้องและท่วมปอด จนถึงกับร้องเรียกหา  “แม่ ” กับบางถ้อยคำที่วนเวียนย้ำเตือนอยู่เสมอ หากย้อนวันเวลากลับไปแก้ไขในความผิดพลาดกันได้นายทาเคชิ นากาเซ่ (ฟูจิวาร่า ) หรือ MR.TAKASHI NAGASE (FUJIWARA ) เจ้าของสถาบันสอนภาษาอาโอยา ม่าและนักเขียนเจ้าของนามปากกา “นากาเซ่ ทาเคชิ ” ก็คงอยากลบฝันร้ายออกไปจากภาพจำที่ยังตามหลอกหลอน

สิ่งเล็กน้อยที่เขาพยายามสร้างมันอาจทดแทนไม่ได้ กับสิ่งที่เขาได้ทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันและนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสำนึกผิด อดีตทหารล่ามผู้นี้เดินทางมาไว้อาลัยต่อเชลยศึกที่กาญจนบุรีอย่างสม่ำเสมอ

อนุสรณ์สถานสงคราามโลก ที่ ๒
อนุสรณ์สถานระลึกถึงการเสียชีวิตของทหารญี่ปุ่น ริมทาง อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

เขาก่อตั้งมูลนิธิสันติภาพแห่งแม่น้ำแควและมอบทุนการศึกษา  การช่วยเหลือสังคมหรือทำประโยชน์ อาจจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เขาคลายความทุกข์และรู้สึกผิดในใจและการได้พบกันระหว่างเขากับ”เอริค โลแม็กซ์” เชลยของสงครามผู้ที่ถูกนายนากาเซ่ทรมาน หลังภรรยาของเอริคเขียนจดหมายถึงเขา ทั้งคู่นัดเจอกันที่เมืองไทย ณ พิพิธภัณฑ์สงคราม สะพานข้ามแม่น้ำแคว การพบกันของคนทั้งสองเสมือนเป็นการปลอดปล่อยความเคียดแค้นและเกลียดชัง แล้วเรื่องราวของคนทั้งสองถูกนำมาสร้างเป็นสารคดีเรื่อง “Enemy, My friend? ” ในปีค.ศ ๑๙๙๕

อนุสรณ์สถานริมทางคดเคี้ยวแห่งนี้ ที่ ทาเคชิ นากาเซ่ (ฟูจิวาร่า )สร้างขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ราวปี พ.ศ. ๒๔๘๔ – ๒๔๘๘  เมื่อกองทัพทหารญี่ปุ่นได้เคลื่อนทัพผ่านบ้านห้วยต้นนุ่น อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผ่านน้ำมาง พื้นที่รอยต่อประเทศเมียนมา แต่การณ์กลับไม่เป็นไปดั่งที่คาดหวังกองทัพญี่ปุ่นเมื่อพ่ายแพ้สงคราม จำต้องถอนกำลังทหารออกจากอินเดียและพม่า ถอยร่นกลับมายังเมืองไทย เพื่อลงเรือ กลับประเทศ ระหว่างทางถูกกระสุนปืนฝ่ายตรงข้ามไล่ล่า ซ้ำร้ายโรคภัยต่างๆ คุกคามอย่างหนัก ด้วยเหตุนี้เอง พื้นที่หมู่ ๑ ของตำบลขุนยวมจึงกลายเป็นที่รองรับทหารบาดเจ็บและสุสานฝังศพทหารญี่ปุ่น ดังปรากฏหลักฐานใน อนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น หรือ พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ ๒ อำเภอขุนยวม

อนุสรณ์สถานสงครามโลกครั้งที่สอง
อนุสรณ์สถานระลึกถึงการเสียชีวิตของทหารญี่ปุ่น ริมทาง อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

แม้จะผ่านมาเนิ่นนาน แต่ร่องรอยบาดแผลยังคงตอกย้ำ ถึงความผิดพลาดและมิตรภาพที่ได้มาจาก “การให้อภัย” โดยปราศจากเงื่อนไขของความเกลียดชัง ในสมรภูมิรบมีแต่ศัตรูคู่อาฆาตที่ต้องห้ำหั่นเข่นฆ่าให้ตายกันไปข้างหนึ่ง แต่พื้นที่รอยเปียกชื้นของคราบน้ำตา ถูกแปรเปลี่ยนเป็นความเอื้ออาทรมิตรภาพและความรักไร้พรมแดน หลังควันไฟสงครามลางเลือน

“ถึงเพื่อนทหารญี่ปุ่นทั้งหลาย ขอให้ดวงวิญญาณพวกท่านจงไปสู่สุคติเทอญ”

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง:

http://www.taiyai.org/2011/index.php?page=4c2378500328311c7354592d47cc700d&r=3&id=40

https://www.thairath.co.th/content/6187

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/654538

http://aboutfirstfilm.blogspot.com/2013/09/the-railway-man.html

ขอบคุณ: คุณศิวพงศ์ สิริวันต์ ผู้บอกเล่าเรื่องราวการถ่ายทำสารคดี นายทาเคชิ นากาเซ่