บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ รินทร์
มีคำถามมากมายผุดขึ้นมาในห้วงความคิด ถึงสิ่งที่เห็นได้จากนัยน์ตาซื่อๆ และรอยยิ้มอันแสนสดใสของเด็กตัวน้อยๆเหล่านั้น พวกเขากำลังจะบอกอะไรบางอย่างและอาจเป็นคำตอบที่ออกมาจากภายในจิตใจที่บริสุทธิ์ สุขของเด็กตัวน้อยๆ ที่มองโลกกว้างใหญ่ด้วยคำถามใคร่อยากเรียนรู้ “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อเป็นชาติ เชื้อไทย เป็นประชารัฐ”บทเพลงที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่ครั้งวัยเยาว์ น้ำเสียงแหลมๆ ใส ตะเบ็งแข่งขันกันร้องเพลงชาติไทยด้วยความภาคภูมิ มันคงจะเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายสำหรับผู้ใหญ่บางกลุ่มคน แต่ในสากลโลกก็มีเพลงชาติเป็นของตนเอง
ผมไม่รู้ว่านั่นคือความเป็นชาตินิยม คลั่งชาติหรือไม่? หากภายในจิตใจกระหวัดคิดไกลไปถึงบทบันทึกประวัติศาสตร์ของแต่ละยุคสมัย เรื่องราวเหล่านั้นคือบาดแผล คือฝันร้ายที่ผ่านพ้นไปและอาจจะย้อนกลับมาทำร้าย ทำลายกัน แต่บทเรียนที่พูดถึงมากที่สุด แม้แต่พระบรมโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.๙) ที่ทรงเน้นย้ำถึง “ความรักความสามัคคี รู้จักหน้าที่ของตนเอง และมีความซื่อสัตย์สุจริต มองเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน” และบทสนทนาระหว่างท่านอาจารย์ก่อเกียรติ ทองผุด ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับคุณภาคภูมิ ประทุมเจริญ (โตโต้) ช่างภาพจิตอาสาผู้เข้าไปเติมเต็มหนังสือ “ด้วยแรงแห่งรักและภักดี” มีข้อความตอนหนึ่งที่กล่าวถึง
“ห้องเรียนชีวิตของพ่อ สิ่งที่ทุกคนได้รับ นอกจากการมาร่วมงานในครั้งนี้ คือวิชาชีวิต ที่เราได้ฝึกฝนและเรียนรู้ผ่านบทเรียน บททดสอบ ไม่ว่าจะเป็นความเสียสละ มีวินัย ความรักและสามัคคี สิ่งเหล่านี้จะนำพาไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จ อาจกล่าวได้ว่าพระองค์ท่านคือเข็มทิศชี้นำทางให้พวกเรา” คงคล้ายๆกับท่อนหนึ่งของบทเพลงชาติ
“ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด “ ทุกยุคสมัย ทุกหนแห่งในโลกชีวิตจริงย่อมมีปัญหา ย่อมมีความขัดแย้ง หากแต่การปลดวางเงื่อนไขตัวกูของกู มองเห็นผลประโยชน์ของส่วนรวม แทนที่จะทำร้าย ทิ่มแทงกันและกัน ยื่นมือหลอมรวมกันเพื่อชาติ บ้านเมืองย่อมมองเห็นอนาคตอันงดงามและอาจเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ๆ ที่จะรับช่วงต่อไปตามกาลเวลา
โลกในโรงเรียนของพวกหนูๆ เหล่านั้นมีครูผู้เมตตา เสียสละ สั่งสอน อบรม บ่มเพาะให้เด็กๆได้เรียนรู้ ผมเชื่อว่ารากคำสอนอย่างหนึ่งที่ได้รับการปลูกฝังนั่นก็คือ “ความรักความสามัคคี รู้จักหน้าที่ของตนเอง และมีความซื่อสัตย์สุจริต มองเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน” ก่อนจะเปิดประตูสู่สนามชีวิตจริง แล้วไทยจะดำรงอยู่ กู่ร้องให้ก้องฟ้า ด้วยคำว่า“เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย”
กราบขอบพระคุณ คุรุแห่งโรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดนบ้านน้ำอ้อม ขอบใจเด็กๆ ตัวน้อยๆ ที่หยิบยื่นไมตรีจิตอันงดงาม
อ้างอิง บทความบางตอนของท่านอจ.ก่อเกียรติ ทองผุด ในหนังสือ “ด้วยแรงแห่งรักและภักดี“