บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ รินทร์

ในยามที่คนเรารู้สึกหวั่นไหว จิตใจขาดความเชื่อมั่น ผมไม่รู้ว่าการมองหาหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อที่จะได้รู้สึกมั่นคงปลอดภัย จะเป็นสิ่งตกยุคหรือล้าสมัยหรือไม่ กับการกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์ เพื่อขอพร ขอความเข้มแข็งเติมเต็มพลังใจ ใครบางคนอาจบอกว่าเป็นเรื่องงมงาย แต่สำหรับคนบางคน ดอกไม้ ธูปเทียนเป็นบรรณาการ ที่จะช่วยดลบันดาลความหวังและศรัทธา เฉกเช่นเดียวกับบรรยากาศยามสายที่ศาลหลักเมืองปทุมธานี

“ปลูกบ้านต้องมีเสาเอก สร้างเมืองต้องมีศาลหลักเมือง” ผมนึกถึงคำ ๆ นี้กับการอพยพถึงสามคราของชาวมอญ

ครั้งที่ ๑ ย้อนไปเมื่อพุทธศักราช ๒๒๐๒ มังนันทมิตรได้ต้อนครอบครัวมอญ เมืองเมาะตะมะ อพยพหนีศึกพม่า เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระนายรายณ์มหาราช ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวมอญตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามโคก

ครั้ง ที่ ๒ คราวแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชาวมอญได้อพยพหนีพม่า เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่บ้านสามโคก

ครั้งสุดท้าย ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ชาวมอญอพยพครั้งใหญ่จากเมืองเมาะตะมะ เข้าสู่ประเทศไทยจึงเรียกว่า “มอญใหญ่” พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญบางส่วนตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคก จากชุมชน “บ้านสามโคก” จึงกลายเป็น “เมืองสามโคก”

มีเรื่องเล่ากันว่า เดือน ๑๑ พุทธศักราช ๒๓๕๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จประพาสเมืองสามโคก และประทับที่พลับพลาริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งซ้าย เยื้องเมืองสามโคก ชาวมอญมีความปลาบปลื้มใจ จึงหลั่งไหลกันมาเข้าเฝ้ารับเสด็จ โดยนำดอกบัวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็น ราชสักการะ ยังความซาบซึ้งในพระราชหฤทัย จึงพระราชทานนามเมืองสามโคก ใหม่ว่า “เมืองประทุมธานี”

5192CE6C 22AA 4C65 90F5 9329DB85A691

ดังในนิราศภูเขาทอง สุนทรภู่ที่ว่า

“ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า

พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี

ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี

ชื่อประทุมธานีเพราะมีบัว”

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๖๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำว่า “จังหวัด” แทน “เมือง” และโปรดให้เปลี่ยนชื่อจังหวัดใหม่จาก “ประทุมธานี” จึงเป็นจังหวัด “ปทุมธานี”นับแต่นั้นมา

หญิงสาวเดินถือธูปเทียน พวงมาลัย เข้าไปยังภายในศาลหลักเมือง จากใบหน้าที่เคร่งเครียด ค่อย ๆ ผ่อนคลาย หลังจากสักการะกราบไหว้ และเสี่ยงเซียมซี เธอเดินออกมาด้วยรอยยิ้ม ผมไม่รู้ว่าเธออธิษฐานอะไรหรือเสี่ยงเซียมซีได้เลขอะไร แต่พอคาดเดาได้ว่า เธอคงได้รับพลังแห่งความสุข-ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปกี่ร้อย กี่พันปี ความเชื่อ ความศรัทธาย่อมจะยังคงอยู่คู่กับกำเนิดมนุษย์ เช่นเดียวกับความสุข และทุกข์ที่อยู่คู่กับลมหายใจเข้าออก ตราบจนสิ้นลม

15391407 1387813404584605 111013597946466691 o

ศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๙ และเมื่อวันจันทร์ที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ตรงกับเวลา ๑๕.๐๐ น. เดือนยี่ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีมะโรง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) ได้เสด็จมา ทรงเป็นประธานวางศิลาฤกษ์หลักเมือง ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานี

ซึ่งทางกรมศิลปากร ได้เป็นผู้ออกแบบประดิษฐ์ตัวเสาหลักเมือง ซึ่งทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ที่ทางกรมป่าไม้ได้นำมาจากสวนป่าลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์มอบให้ ครั้นเมื่อประดิษฐ์เสร็จเรียบร้อยแล้วได้นำเข้าพระตำหนักสวนจิตรลดาเพื่อทูลเกล้า ฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ (รัชกาลที่ ๙) ทรงเจิมเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เวลาฤกษ์ ๐๘.๒๙ น. และในคืนนี้เวลาประมาณ ๕ ทุ่ม (๒๓.๐๐ น.) ได้เกิดจันทรคราส จับครึ่งดวงเป็นที่น่าอัศจรรย์

15370030 1387813261251286 2107980480358601929 o

เมื่อสร้างตัวศาลหลักเมืองเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้กำหนดการประกอบพิธียกเสาหลักเมืองจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันพุธที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี##

ข้อมูลประกอบจาก วิกิพีเดีย