ในฐานะสื่อมวลชนสายงานสารคดี ผมีโอกาสไปสัมผัสวิถีชีวิต และศิลปวัฒนธรรมในประเทศเพื่อนบ้านลุ่มน้ำโขง คือ เวียดนาม ลาว กัมพูชา เป็นครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๓ ตามมาด้วยพม่า ปี ๒๕๓๖ ซึ่งช่วงเวลานั้น หลายประเทศที่กล่าวมาเพิ่งฟื้นจากภาวะสงคราม บางประเทศ อย่างกัมพูชา ยังมีการสู้รบ ชนิดที่ระหว่างการถ่ายทำสารคดี บางที เรามีเสียงปืนใหญ่ดังขับกล่อมในระยะแค่สิบกิโลเมตร
ผลงานสารคดีที่ผมเขียนในช่วงนั้น ทั้งที่เป็นสารคดีโทรทัศน์ อย่างรายการโลกสลับสี ชุด เวียดนาม อาณาจักรล้านช้าง นครวัด นครธม และที่เป็นหนังสือสารคดีสัญจร อย่าง ท่องแดนเจดีย์ไพร ในพุกามประเทศ ซินจ่าวเวียดนาม ชายชรากับบ่วงกับและคำสาบ นครวัด นครธม ฯลฯ
ส่วนใหญ่เป็นภาพสะท้อนอาการตื่นตะลึง ของคนที่แทบไม่รู้จักเพื่อนบ้านของตนเอง และแทบไม่เชื่อว่า ดินแดนที่มีการสู้รับกันดุเดือดเลือดพล่านอย่างอินโดจีน จะเต็มไปด้วยร่องรอยอารยธรรมโบราณอันชวนอึ้ง อย่างมหาปราสาทนครวัด เปี่ยมด้วยสีสันวัฒนธรรมทรงเสน่ห์ อย่างเว้ หลวงพระบาง และดารดาษด้วยหมู่เจดีย์จากแรงศรัทธามหาศาลนับพัน ๆ องค์อย่างพุกาม
นับแต่นั้น ผมจึงสนใจเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขงอย่างจริงจัง และเดินทางเข้า-ออก หลายประเทศ ทั้งเพื่อไปทำสารคดี ไปเที่ยวเอง นำผู้สนใจวัฒนธรรมเพื่อนบ้านไปเที่ยว รวมถึงไปตามคำเชิญจากหน่วยรายการ
ซึ่งการสัญจรรอนแรมไปในลุ่มน้ำโขง ทำให้ผมมองเห็นความแตกต่างหลากหลาย ทั้งวัฒนธรรมการแต่งกาย การนับถือศาสนา ภาษา และอาหารการกิน ซึ่งมาตรฐานความสวย ความงาม ความอร่อย มิได้มีมาตรฐานเดียว อย่างที่เคยเข้าใจ
อาจกล่าวได้ว่า ผมสนใจเพื่อนบ้านแห่งลุ่มน้ำโขง เพราะค้นพบความจริงว่า เรารู้จักเกาหลี ญี่ปุ่น จีน ยุโรป อเมริกา ดีพอสมควร แต่เราไม่รู้จักเพื่อนบ้านของเรา หรือรู้จักน้อยมากๆ
ทว่า เสร็จสิ้นงานสารคดีแล้ว การเดินทางของผมยังไม่จบ เมื่อมีผู้ใฝ่ใจในการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม ชักชวนให้ผมร่วมเดินทางไปถ่ายทอดประสบการณ์ และเสริมเติมข้อมูลความรู้เชิงประวัติศาสตร์ โบราณคดี คติชนวิทยา ฯลฯ ในทริปการเดินทางท่องเที่ยวประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีบริษัททัวร์หลายแห่งจัดขึ้นมา
จวบจนเมื่อสงครามอินโดจีนที่ยืดเยื้อยาวนาน ถึงกาลต้องปิดฉาก พม่าที่เก็บตัวเป็น “ฤษีแห่งเอเชีย” ใต้ร่มเงาเผด็จการทหารมานานนับกึ่งศตวรรษ ก้าวสู่วิถีทางประชาธิปไตย การสัญจรสู่นครวัด จากปี ๒๕๓๒ ที่ต้องใช้เวลาเดินทางโดยเครื่องบิน 2 วันเต็มๆ (กรุงเทพฯ – เวียงจันทน์ – พนมเปญ – เสียมเรียบ – นครวัด) บัดนี้ เหลือระยะเวลาการบินจากกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่เสียมเรียบ เพียง 40 นาที ที่สำคัญ “อาเซียน” ที่เคยต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างอยู่ หลอมรวมเป็นครอบครัวเดียวกัน ในนาม “ประชาคมอาเซียน”แล้ว
ทว่า กาลเวลาเปลี่ยน บ้านเมืองเปลี่ยน ความคิดเปลี่ยน…
ผมจึงมีโอกาสได้สัมผัสความเปลี่ยนแปลงในประเทศเพื่อนบ้านเป็นระยะๆ และนำประเด็นความเปลี่ยนแปลงมานำเสนอเป็นบทความสารคดี ตีพิมพ์ในนิตยสาร และหนังสือพิมพ์หลายฉบับ อาทิ นิตยสาร Travel Guide หนังสือพิมพ์ คม-ชัด-ลึก และกรุงเทพธุรกิจ (เสาร์สวัสดี) ตลอดจนนำเสนอเป็นรายงานพิเศษ ในรายการวิทยุอุษาคเนย์ ทางคลื่นความคิด Fm 96.5 อสมท
อีกทั้งยังได้คัดสรรบทความสารคดีที่กระจัดกระจายในหลายสื่อมารวมเป็นเล่ม อาทิ มนตราอาเซียน หรรษาอาเซียน โขงนทีสีทันดร เพื่อสะท้อนความจริงคือ ไม่ว่าประเทศลุ่มน้ำโขง หรืออาเซียนจะเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีและเข็มนาฬิกาสักเพียงใด แต่รากของสังคมผสมผสาน และจิตวิญญาณแห่งพหุวัฒนธรรมที่หยั่งลึก ทำให้ดินแดนนี้ยังทรงเสน่ห์ ดั่งมีมนตรามัดตรึงใจผู้ไปเยือนไม่เสื่อมคลาย
การเรียนรู้ท่ามกลางการเดินทาง เปิดประตูใจให้ยอมรับความแตกต่างของชาวลุ่มน้ำโขง กระทั่งยอมรับว่า เราสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้ หากเคารพในความ “ไม่เหมือน” กันและกัน ซึ่งวันนี้ คือหัวใจสำคัญของการสถาปนา “ประชาคมอาเซียน” ภายใต้คำขวัญ “Unity on Diversity”…เอกภาพบนความแตกต่างและหลากหลาย
ซึ่งผมถือเป็นประเด็น (Content) หลักในงานเขียนบทความสารคดี การผลิตสารคดีโทรทัศน์ จัดรายการวิทยุ กระทั่งในการเป็นวิทยากรนำชม เพื่อให้ผู้คนในลุ่มน้ำโขงเรียนรู้กัน เข้าใจกัน มีไมตรีจิตมิตรภาพให้กันและกัน นำไปสู่การรร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสันติสุขและความเข้มแข็งสู่ภูมิภาคนี้อย่างยั่งยืน
ด้วยคารวะ
ธีรภาพ โลหิตกุล
นักเขียนรางวัลวรรณกรรมลุ่มน้ำโขง (ประเภทสารคดี ประจำปี ๒๕๕๗)
โขงมหานทีแห่งอุษาคเนย์
จัดพิมพ์โดย : ชุลีกรครีเอชั่น จำกัด
ราคา ๒๐๐ ลดพิเศษรวมค่าจัดส่ง รายได้ส่วหนึ่งนำไปจัดกิจกรรมของกลุ่ม “ฅนรักษ์แม่น้ำ”
สนใจ Inbox Facebook Page : 365Days
ฟังเพลงโขงมหานทีแห่งอุษาคเนย์