“เจ้าขาวแม่ลาระลอกเอย ลาหอมดอกดอกเอ๋ยจำปา ข้างขึ้นแล้วหนอเรามาขอรำพา เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา สาวเอย มาถึงบ้านนี้เอย อย่าได้รอรี จอดหัวบันได โอ้แม่เจ้าประคุณลูกเอาส่วนบุญมาให้ เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา สาวเอย”
เช้าวันหนึ่งในฤดูน้ำหลากซึ่งเป็นช่วงเทศกาลออกพรรษา ขณะนั่งอยู่ในเรือขบวนพ่อเพลงแม่เพลงรำพาข้าวสาร กำลังขับร้องเพลงบอกบุญกับชาวบ้านอาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ประเพณีงานบุญของชาวไทยเชื้อสายมอญสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่การโยกย้าย มาตั้งรกราก บ้านเรือนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา
“น้ำนั้นแทรกซึมอยู่ในทุก ๆ ส่วน พิธีกรรม วรรณกรรม นาฏศิลป์ ศิลปพื้นบ้าน การละเล่น จิตรกรรม ประติมากรรมและการวางผังเมือง” ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยาได้กล่าวในหนังสือ “น้ำ” บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย คือสายน้ำและวิถีผู้คนที่แสดงออกถึงความผูกพัน คือแหล่งกำเนิดวัฒนธรรม ดังจะเห็นได้จากงานบุญ ประเพณีการละเล่นที่ยังคงอยู่
ขบวนเรือรำพาแล่นออกจากท่าน้ำวัดมะขาม ล่องนำขบวนเรือพระร้อย บ้านไม้ เรือนไทย บ้านสมัยใหม่ริมแม่น้ำ และบริเวณท่าเรือวัดเนืองแน่นไปด้วยพุทธศาสนิกชนที่ตระเตรียมข้าวสาร อาหารแห้งของคาว ขนมหวานผลไม้มาร่วมทำบุญ เราเองแค่คนผ่านมาได้บันทึกภาพรอยยิ้มแห่งความสุขก็พลอยอิ่มใจ
เหลียวมองสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาภาพความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเสมือนระลอกคลื่นโถมซัดแนวกั้นคอนกรีต เป็นธรรมดาของการปรับเปลี่ยนเพื่อป้องกันภัยธรรมชาติและความอยู่รอด ทว่าสิ่งที่จะเชื่อมโยงระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็คงต้องได้รับการบันทึก ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ ถ้อยคำ บทเพลงหรือศิลปะสาขาใดที่นำเสนอ ภาพสะท้อนในแต่ละยุคสมัยอันบอกถึงนัยความสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับสายน้ำ อย่างน้อยก็เป็นการประวิงเวลาไม่ให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดทำลายวิถีดั้งเดิม ดั่งเช่นคำกล่าวสรุปของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยาที่ว่า
“นครอันใหญ่มหึมาของกรุงเทพฯ ในปัจจุบันเปรียบเสมือนสัตว์ประหลาดที่ ขาดความสัมพันธ์กับภูมิหลังและสิ่งแวดล้อมของตัวเอง กรุงเทพฯ ทั้งเมืองสร้างขึ้นบนแผ่นคอนกรีตอันกว้างใหญ่ ซึ่งเกิดจากการถมที่ลุ่มด้วยความมุ่งหมายจะให้เป็นเมืองบก แต่ทุก ๆ ปี เมืองที่สร้างขึ้นโดยฝืนธรรมชาตินี้ก็ถูกท่วมกลายเป็นเมืองหมดสมรรถภาพ
….นี่แหละสัญชาติญาณของคนไทยซึ่งเป็นแรงขับดันให้เกิดศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นสัญชาติที่กำลังจะสาบสูญไปในที่สุด”
ขอบคุณที่มา :
“น้ำ” บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย , ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา