เรื่องและภาพ : ธีรภาพ โลหิตกุล

๑.
อาคันตุกะผู้ไปเยือนสิงห์บุรีมักจะงุนงงสงสัย ว่าเหตุใดจังหวัดนี้จึงมีทั้งอำเภอบางระจัน และอำเภอค่ายบางระจัน แน่นอนว่าทั้งสองอำเภอต้องมีความเกี่ยวพันกับวีรชนบางระจัน ที่สร้างวีรกรรมไว้ในประวัติศาสตร์ยุคเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง คำอธิบายจึงไม่มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่า… เมื่อชาวบ้านบางระจันสามัคคีกันสู้ศึกศัตรู จึงรวมพลังตั้ง “ค่าย” ไว้อีกแห่งหนึ่งซึ่งห่างจาก “บ้าน” หรือชุมชนบางระจันพอประมาณ

ครั้นเมื่อมีการจัดตั้งสิงห์บุรีเป็นจังหวัดในสมัยรัชกาลที่ 6 “ค่าย” กับ ”บ้านบางระจัน” สังกัดอำเภอเดียวกัน คืออำเภอบางระจัน แต่ต่อมา เกิดมีแนวคิดที่จะเชิดชู “วีรชนค่ายบางระจัน” ให้สูงเด่น จึงแยกพื้นที่ค่ายบางระจัน และวัดโพธิ์เก้าต้นของพระอาจารย์ธรรมโชติ – เกจิผู้เป็นที่พึ่งทางใจของชาวบางระจัน มาตั้งเป็นอำเภอใหม่ ชื่อ “อำเภอค่ายบางระจัน” ในพ.ศ.2509 หรือราว 50 ปีมานี้เอง

ผลที่ตามมาคือปรากฏการณ์ “ถนนทุกสายมุ่งสู่อำเภอค่ายบางระจัน” เพราะอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจันตั้งอยู่ที่นั่น รูปปั้นนายอิน นายจัน นายทองเหม็น นายทองแสงใหญ่ ฯลฯ ที่ปรากฏในตำราประวัติศาสตร์ไทย มีให้เห็นเป็นรูปธรรมที่นั่น แม้กระทั่งบ่อน้ำที่พระอาจารย์ธรรมโชติใช้ทำน้ำมนต์ประพรมให้วีรชนค่ายบางระจันมีความมั่นใจไปรบ ก็ยังเป็นที่สักการบูชามาตราบจนวันนี้ การเดินทางสู่สิงห์บุรีครั้งล่าสุดของข้าพเจ้า จึงเป็นครั้งแรก ที่มิได้ไปอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน แต่มุ่งตรงไปอำเภอข้างเคียงที่ไม่ค่อยมีคนไป ข้าพเจ้าเองก็ไม่เคยไปมาก่อนเลย คือ อำเภอบางระจัน ซึ่งมีแหล่งโบราณคดีสำคัญ คือแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย ยอมรับกับใจตนว่าข้าพเจ้าไม่กระตือรือร้นที่จะไปชมเท่าใดนัก เพราะคิดว่าได้ไปเห็นเตาสังคโลก หรือเตาทุเรียงที่ศรีสัชนาลัย ซึ่งเก่าแก่กว่า โด่งดังกว่า…มาแล้ว เตาเผาอื่นก็คงงั้นๆ

แต่คิดผิด “แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย” อยู่ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ที่สวยหรู ดูดี สะอาดสะอ้าน และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ร่อยรอยเตาเผาแบบประทุนที่ขุดค้นพบ ความยาวถึง 14 เมตร กว้าง 5.6 เมตร เรียงรายในพื้นที่กว้างกว่า 2 ตารางกิโลเมตร หรือราว 1 พันไร่ มีหลักฐานว่าเป็นแหล่งผลิตไห โดยเฉพาะ “ไหสี่หู” เอกลักษณ์เฉพาะของที่นี่ แล้วยังมี อ่าง ครก กระปุก ขวด ช่อฟ้า รวมถึงท่อน้ำดินเผาที่ใช้ในกิจการประปาหลวง ในเขตพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ หรือแม้กระทั่งกระเบื้องปูพื้นภายในวัดไชยวัฒนาราม ล้วนผลิตจากเตาเผาแม่น้ำน้อย

ปฏิบัติการบุกจับเรือ “ออสเตรเลีย ไทด์” ที่เข้ามาลักลอบงมโบราณวัตถุจากเรือสินค้าโบราณจมในน่านน้ำอ่าวไทย เมื่อปี 2535 สามารถยึดภาชนะดินเผาคืนมาได้ถึงกว่า 10,000 ชิ้น ตรวจสอบพบว่าเป็นเครื่องสังคโลกจากแหล่งเตาเผาศรีสัชนาลัย 6,500 ชิ้น ที่เหลือกว่า 3,000 ชิ้น มาจากแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย สันนิษฐานว่าเป็นสินค้าส่งออกไปจีน แต่เรือล่มที่ปากอ่าวไทยเสียก่อน

เป็นหลักฐานชี้ชัดว่าในอดีต ที่นี่ เปรียบเสมือนนิคมอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาส่งออก สร้างความมั่งคั่งให้กรุงศรีอยุธยายุคการค้าสำเภาอย่างต่อเนื่องเกือบ 400 ปี ตั้งแต่รัชสมัยขุนหลวงพะงั่ว พ.ศ.1914 จนกรุงศรีอยุธยาล่มสลายในปี 2310 จนมีคำกล่าวว่า สุโขทัยยิ่งใหญ่ไม่ได้เลย ถ้าไม่มีรายได้จากเตาสังคโลกที่ศรีสัชนาลัยมาสนับสนุน ฉันใด กรุงศรีอยุธยาก็ยากจะเกรียงไกร ถ้าไม่มีฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงจากแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย ฉันนั้น


ทั้งนี้ มีข้อสันนิษฐานว่าช่างปั้นดินเผาเตาแม่น้ำน้อย อพยพมาจากสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กับอีกกลุ่มหนึ่งเป็นช่างปั้นจากเมืองจีน อพยพมาพบที่ราบลุ่มแม่น้ำน้อย ซึ่งมีดินเหนียวชนิดพิเศษ คือมีแร่เหล็กผสม เหมาะแก่การทำเครื่องปั้นดินเผา อีกทั้งข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ไม้ฟืนก็มีมาก การคมนาคมก็สะดวก จึงจัดตั้งเตาเผากันที่นี่

ทว่า จำนวนเตาที่ค้นพบมากกว่า 200 เตา แต่ละเตาต้องใช้ช่างหลายคน ลำพังเฉพาะช่างที่อพยพมาคงไม่เพียงพอ เชื่อว่าจะต้องมีช่างท้องถิ่นบางระจันรวมอยู่ด้วย และถึงแม้จะผลิตเครื่องปั้นจำนวนมากเพื่อการส่งออก แต่กลวิธีการผลิตในสมัยนั้นไม่ใช่การ “ปั้ม” สินค้าออกมาเหมือนๆ กันหมด หากแต่ต้องใช้ฝีมือช่าง “ปั้น” ทีละชิ้นก่อนส่งเข้าเตาเผา ช่างปั้นสมัยนั้นจึงต้องมีคุณสมบัติ “รู้ดิน รู้น้ำ รู้หนัก รู้เบา รู้ไฟอ่อน รู้ไฟแก่” คือเป็นช่างที่มีความเป็น “ศิลปิน” อยู่ในตัว หากเป็นเช่นนั้นจริงก็ชวนขนลุก ที่ชาวบ้านบางระจันนั้น มีทั้งฝีมือช่าง และจิตวิญญาณศิลปิน รังสรรค์เครื่องปั้นดินเผาสร้างความมั่งคั่งให้กรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังมีจิตใจกล้าหาญลุกขึ้นมาใช้มือที่ปั้นดิน มาจับดาบ หอก กระบอกปืนไฟ ต่อสู้กับอริราชศัตรู หมายกอบกู้แผ่นดินเกิดอย่างไม่คิดชีวิต เช่นนี้แล้วจะกล่าวได้ไหมว่า พวกเขาคือวีรชนแห่งวีรชน โดยแท้

ส่วนหนึ่งของเครื่องปั้นดินเผาจากเตาแม่น้ำน้อย
ส่วนหนึ่งของเครื่องปั้นดินเผาจากเตาแม่น้ำน้อย

แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ขุดค้นโดยกรมศิลปากร ในปี 2531 แล้วจัดตั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ปัจจุบัน อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี วันที่ข้าพเจ้าไปเยือนเป็นวันอาทิตย์ แต่มีนักท่องเที่ยวบางตา และมีเจ้าหน้าที่ของอบจ. คือคุณสาม ก้อน-แข็ง ให้การต้อนรับอย่างดี คุณสามเป็นชาวบางระจันโดยกำเนิด เห็นพื้นที่นี้มาตั้งแต่ยังเป็นเนินดินที่มีเศษซากหม้อ ไห และภาชนะดินเผาแตกหักอยู่เกลื่อนกล่น ชาวบ้านจึงเรียก “โคกหม้อ” ก่อนที่กรมศิลปากรจะทำการขุดค้น จนพบว่าเป็นแหล่งเตาเผาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสำรวจพบในประเทศไทย

แม้ว่าโดยหน้าที่ คุณสามจะเป็นเพียงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แต่ก็เต็มใจจะช่วยดูแลรักษาความสะอาดสถานที่ คอยต้อนรับและให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวตลอด 7 วัน โดยไม่มีวันหยุด ด้วยสำนึกว่าเป็นงานเพื่อแผ่นดินถิ่นเกิด สมแล้วที่เกิดเป็นชาวบางระจัน กลับจากการไปรับรู้เรื่องราวของเหล่าวีรชน ผู้ปิดทองหลังองค์พระปฏิมา ที่แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ครั้งนั้นแล้ว ทำให้เกิดคำถามขึ้นใจตนว่า คนรุ่นนั้น มือหนึ่งปั้นโอ่ง ปั้นไห ส่งออกไปขายเลี้ยงแผ่นดิน อีกมือหนึ่งจับดาบฟาดฟันอริราชศัตรู
แต่คนรุ่นเรา ทะเลาะเบาะแว้งกัน แบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย ไม่จบไม่สิ้น ช่างน่าเศร้าใจยิ่งนัก

************************************************

วีรชนหลังพระ ณ ลำน้ำน้อย

****************************

ชวนฟัง หนังสือเสียงสารคดี 

จากงานเขียนของ ธีรภาพ โลหิตกุล  

หนังสือ “สามทศวรรษ สายน้ำและความทรงจำ”

เรื่อง *วีรชนหลังพระ ณ ลำน้ำน้อย

*รับฟังทาง Youtube

108Audiobooks  คลิก…

อ่านโดย กิติมาภรณ์ จิตราทร

ดนตรีประกอบ นิพนธ์ เรียบเรียง

ภาพลายเส้น จรูญ น้อยปาน

จัดทำโดย: เรือนพิมพ์แม่ชอบชมรมกล้องกับปากกา ด้วยดวงตาและหัวใจ

*ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมกรมส่งเสริมวัฒนธรรมกระทรวงวัฒนธรรม

243350214 958580935079308 2177623007165203697 n