บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ รินทร์
เสียงเพลง yesterday once more ซึ่งบรรเลงด้วยเเอกคอร์เดียน (Accordion) โดยศิลปินเปิดหมวกริมทางเดิน เท้าของเขาสวมเครื่องดนตรีประกอบจังหวะที่เรียกว่าแทมมารีน (FOOT TAMBOURINE) เหล่าคนสัญจรเดินผ่านไป-มาบริเวณท่าพระจันทร์ บ้างหยุดยืนฟังแล้วหย่อนเหรียญเป็นสินน้ำใจ บางคนสีหน้าเคร่งขรึม เร่งรี่ไปให้ถึงปลายทาง ส่วนผมกำลังบ่ายหน้าไปยัง ตึกแถวหน้าพระลาน ท่าช้างวังหลวงและตึกแถวตลาดท่าเตียน ซึ่งได้รับการบูรณะซ่อมแซมจนแล้วเสร็จ
ท้องฟ้าเข้าสู่ห้วงเวลาย่ำค่ำ พระจันทร์เสี้ยวลอยเหนือแผ่นฟ้า แสงไฟสาดส่องอาคารโบราณสถาน ที่สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๔๕๒ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ก่อนหน้านั้นอาคารเหล่านี้อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ภายใต้แนวคิด “อนุรักษ์พัฒนายั่งยืน” โดยการบูรณะปรับปรุงอาคารโบราณสถานในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินฯ จำนวน ๓ กลุ่มอาคารคือตึกแถวถนนหน้าพระลาน อาคารอนุรักษ์บริเวณท่าช้างวังหลวงและกลุ่มอาคารอนุรักษ์ บริเวณตลาดท่าเตียนซึ่งดำเนินโครงการบนพื้นฐานแห่งการรักษา “คุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรมบนพื้นที่ประวัติศาสตร์” คงไว้ซึ่งคุณค่าทางสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงาม
พูดถึงท่าเตียน นั้นมีตำนานที่เล่าต่อๆ กันมาว่าบริเวณ ท่าเตียนอันเป็นพื้นที่โล่งเตียนนั้นเป็นผลจากการต่อสู้ของ “ยักษ์วัดแจ้ง” กับ “ยักษ์วัดโพธิ์”โดยมี “ยักษ์วัดพระแก้ว” เป็นผู้ห้ามทัพ บ้างก็บอกว่าเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ซึ่งเป็นเหตุ ให้บริเวณนั้นราบเรียบเตียนโล่ง คนทั่วไปจึงเรียกลักษณะเด่นของบริเวณนั้นว่า “ ท่าเตียน” แต่ยังมีผู้สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ ฮาเตียน” ซึ่งชาวญวนอพยพบางคนเห็นภูมิประเทศบริเวณนี้คล้ายคลึงกับเมืองฮาเตียน จึงเรียกว่าฮาเตียน ต่อมาจึงเพี้ยนเป็นสำเนียงไทยว่า “ ท่าเตียน”
ส่วนท่าช้างนั้นเดิมเคยเรียกกันว่าท่าช้างวังหลวง ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เป็นบริเวณประตูเมืองที่นำช้างซึ่งเลี้ยงไว้ในพระบรมมหาราชวังหรือพระราชวังหลวง ลงอาบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจึงเรียกกันว่า “ท่าช้างวังหลวง” ต่อมาใน พ.ศ ๒๓๕๑ ปฐมกษัตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญ พระศรีศากยมุนี จากเมืองสุโขทัยมาทางแพเพื่อมาประดิษฐานที่วัดสุทัศน์ฯ จอดพักแพที่ท่าช้างวังหลวง เพื่อประกอบพระราชพิธีสมโภชเป็นเวลา ๓ วัน แต่พระพุทธรูปไม่สามารถผ่านประตูเมืองบริเวณนี้ได้ รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อประตูและกำแพงบางส่วนออก แล้วสร้างประตูใหม่พระราชทานนามว่า “ประตูท่าพระ” อย่างไรก็ตามประชาชนยังคงนิยมเรียกกันว่าท่าช้างหรือท่าช้างวังหลวง
แม้วันเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป ตึกเก่าปรับปรุงสร้างใหม่ เพื่อคงไว้ซึ่งวันวาน หลายๆ ท่าน้ำมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ศิลปินเปิดหมวกริมฟุตบาทเก็บเงินสินน้ำใจจากผู้ผ่านไปมาลงใส่ถุง เขาวางเครื่องดนตรีคู่ใจใส่กระเป๋า มุ่งหน้าไปยังท่าพระจันทร์ ในขณะที่ผมฮึมฮัม
Every Sha-la-la-la
Every Wo-o-wo-o
Still shines
Every shing-a-ling-a-ling
That they’re startin’ to sing’s
So fine …