ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของนครชัยศรี ห่างจากที่ว่าการอําเภอนครชัยศรีประมาณ ๕ กิโลเมตร แต่เดิมเป็นหมู่บ้านในตำบลท่ามอญ ต่อมาเมื่อมีจำนวนประชากรและความเจริญมากขึ้น จึงมีการแบ่งแยกเป็นตำบลขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๒ โดยใช้ชื่อว่า “ตำบลขุนแก้ว ”และยกฐานะเป็นเทศบาล พื้นที่บางส่วนนั้นติดแม่น้ำนครชัยศรีและมีน้ำกัดเซาะตลิ่งพังลงแม่น้ำอยู่เสมอ ดังปรากฏวัดเก่าแก่ ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดท้ายเมือง ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดโคกแขก ซึ่งเป็นชาวมุสลิมที่คนไทยเรียกว่า “แขก”

เหตุที่เรียกว่าโคกเพราะบริเวณนั้นเป็นที่สูง ซึ่งได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นวัดที่ปกปักรักษาองค์พระปฐมเจดีย์ ๔  ทิศ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดประชานารถ ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญ เช่นโบสถ์ วิหาร หอระฆัง  ศาลาหอฉัน ศาลาการเปรียญ (ศาลาริมน้ำ) และเจดีย์ยอดปรางค์ซึ่งองค์เจดีย์เป็นฐานกลมใหญ่ ลักษณะรูปแบบศิลปกรรมสมัยอยุธยา มีบันไดทอดขึ้นไปยังฐานทักษิณสามารถเดินได้รอบองค์ปรางค์ซึ่งก่อสร้างต่อจากลานทักษิณขึ้นไป คล้ายกับพระประโทน กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อวันที่ ๓๐  ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๑

ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ รศ.๑๑๗​ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจดบันทึกรายงานการเสด็จตรวจราชการหัวเมือง นครชัยศรีและตรวจราชการอำเภอตลาดใหม่ ไว้ว่า

ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนขุนแก้วยังเป็นพื้นที่การเกษตร ผู้คนในชุมชนแห่งนี้ยังคงดำเนินชีวิตเรียบง่าย ทํานา ทําสวน ทําไร่บ้างและลูกจ้างโรงงาน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หากยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมประเพณีที่ได้รับการอนุรักษ์และสืบสานส่งต่อกันมาหลายชั่วอายุคนดังจะเห็นได้จากตำรับอาหารการกินพื้นถิ่นอันสะท้อนให้เห็นถึงชุมชนที่มีความเป็นมายาวนาน

จากหนังสือ : ตำรับเก่าเล่าเรื่อง ณ เมืองนครชัยศรี
จัดพิมพ์โดย โครงการวิจัยจากเก่าสู่เก๋า นวัตกรรมอาหารไทยโบราณ-มรดกทางวัฒนธรรม ที่ล้ำค่าของมณฑลนครชัยศรี
ผศ.ดร.ศริยามน ติรพัฒน์ : ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย
เรียบเรียง : สุชาติ ชูลี