เรื่องและภาพ : ธีรภาพ โลหิตกุล

ในอดีต ดินแดนที่เห็นในภาพนี้ คืออาณาจักรพุกาม ราชธานี ณ ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิระวดีตอนบน ของผู้คนในกลุ่ม Tibetan – Burma หรือกลุ่มตระกูลพม่า-ทิเบต สายเมียน หรือม่าน ซึ่งก็คือชาวเมียนมาในปัจจุบัน

..
ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 11 หรือ 1,500 ปีก่อน เคยมีพม่า-ทิเบต อีกสายหนึ่ง คือ ชาวพิว หรือพยู หรือปยู (Pyu) เคลื่อนลงมาตั้งถิ่นฐาน บนที่ราบลุ่มอิระวดีตอนกลาง (ใกล้เมืองแปรวันนี้) โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ “ศรีเกษตร” ซึ่งมีสถานะเป็น “นครรัฐ” มิใช่อาณาจักรใหญ่ที่มีเมืองบริวาร

ในห้วงยามเดียวกับที่ชนกลุ่มตระกูลมอญ (Mon.) กำลังเฟื่องฟูอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำอิระวดีตอนล่าง ต่อเนื่องถึงที่ราบลุ่มปากแม่น้ำสาละวิน โดยมีศูนย์กลางอยู่ ณ ราชธานี “สุธรรมวดี” หรือสะเทิม ทั้ง สุธรรมวดี (มอญ) และศรีเกษตร (พยู) ต่างเทิดทูนพุทธศาสนา และมั่งคั่งจากการค้าขายทางทะเล

จวบจนราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือราว 1,000 ปีที่แล้ว กลุ่มตระกูลพม่า-ทิเบต สายเมียน หรือม่าน เข้มแข็งเติบใหญ่ขึ้น
จนสามารถกรีฑาทัพลงมาตี สุธรรมวดีของมอญ แตกใน พ.ศ.1600 ซึ่งยามนั้น ศรีเกษตรของชาวพยู ก็อ่อนแอลงมากเช่นกัน

ชาวเมียน หรือม่าน โดยกษัตริย์อโนรธา จึงสถาปนาอาณาจักรพุกามเถลิงอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือที่ราบลุ่มอิระวดี และรับเอาแบบแผนประเพณี วิถีวัฒนธรรม โดยเฉพาะพุทธศาสนา ศิลปสถาปัตยกรรม จากต้นธารสองสายหลัก คือ อารยธรรมพยู และอารยธรรมมอญ ในลักษณาการเดียวกับชาวโรมัน ซึมซับรับอารยธรรมกรีก

จนมีการตีความว่า ชื่ออาณาจักรพุกาม ซึ่งสำเนียงชาวเมียนมาปัจจุบัน ออกว่า “ปะกัน” (Bagan) นั้น อาจมีต้นรากจากคำว่า “พิวคาม” หรือ “พยูคาม” มีความหมายในเชิงให้เกียรติ หรือเพื่อรำลึกนึกถึงว่า พุกามคือแผ่นดินที่ (เคย) เป็นถิ่นฐานของชาวพิว หรือชาวพยู มาก่อนนั่นเอง*
…………………
*หมายเหตุ ข้อเขียนนี้เกิดขึ้นจากการศึกษาและตีความโดยปัจเจกพิเคราะห์ ของผู้เขียน มิอาจนำไปอ้างอิงทางวิชาการได้
และยินดีรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง