เรียนรู้–
บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ รินทร์

๑๑.๐๐ น. ผมกับทีมงานช่างภาพและช่างวิดีโอเดินทางไปถึงจุดนัดหมายก่อนกำหนด  เราจึงเลือกที่จะเก็บภาพบรรยากาศริมแม่น้ำน่านระหว่างรอเจ้าของบ้านมาถึง สายน้ำสีขุ่นกับระดับน้ำที่สูงขึ้นจนปริ่มตลิ่ง รายงานกรมอุตุนิยมวิทยาบอกถึงลมมรสุมอีกหลายระลอกที่กำลังจะพัดผ่านมา ว่ากันว่าปริมาณน้ำในปีนี้น่าจะมากกว่าปีก่อน ๆ แต่ฤดูน้ำหลากย่อมเหือดแห้งไปตามห้วงเวลา

ห้องแถวไม้สองชั้นที่มีอายุร่วม ๑๐๐ ปี อันเป็นเสมือนเงาภาพอดีตของตลาดชุมแสงที่เคยรุ่งโรจน์  ณ บริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่านไหล ก่อนจะไหลรวมกับแม่น้ำปิงที่ปากน้ำโพ แม่น้ำที่นำพานักเดินทาง นักแสวงโชคจากทั่วทุกสารทิศ แต่แล้วเมื่อถนนหนทางเข้ามามีบทบาท จึงทำให้การสัญจรทางน้ำถูกลดทอนความสำคัญ ตลาดชุมชนที่คึกคักกลับซบเซาลงไป ห้องแถวบางห้องจึงถูกทิ้งร้าง บางห้องยังมีเจ้าของอยู่อาศัยทำมาค้าขาย 

IMG 1571

ทว่าตลาดชุมแสงกลับมาโด่งดังอีกครั้งเมื่อช่องน้อยสีใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นฉากละครเล่าเรื่องแนวชีวิตย้อนยุคสะท้อนสังคม บทประพันธ์ของจุฬามณีและบทโทรทัศน์โดยยิ่งยศ ปัญญา ทำให้ตลาดชุมแสงที่เงียบเหงาฟื้นกลับมีชีวิตชีวาอีกครั้ง มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาตามรอยละครดัง ถ่ายภาพห้องแถวอัศวรุ่งเรืองพานิชย์  สถานีรถไฟ สะพานแขวนข้ามลำน้ำน่าน และชิมอาหารรสเด็ดในตลาดชุมแสง

เสียงแตรรถส่งสัญญานถึงการมาของเจ้าของบ้าน-บ้านไม้หลังเก่าสองชั้นที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ร่มเงากับแผ่นป้าย “บ้านศิลปะ ศุภ’กนิษฐ” ภายในบ้านจัดแสดงภาพวาดแนวภาพเหมือนโดยใช้สีพาสเทล เป็นภาพผลงานแห่งความภาคภูมิใจ เมื่อกล้องและทีมงานพร้อมเราจึงเริ่มบทสนทนาด้วยการเกริ่นนำถึงแรงบันดาลใจ….

งานนครสวรรค์ 17 18สิงหาคม 262

ดร. ศุภชัย สุวรรณกนิษฐ ภาพโดย : ศรยุทธ รุ่งเรือง

“ผมก็เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนเหมือนกับท่านมหาตมะคานธีบอกว่า ถ้าจะดูหมู่บ้านก็ต้องไปดูที่บ้านก่อน ถ้าเราต้องการให้ตำบลชุมแสง อำเภอชุมแสง เป็นสิ่งที่คนในสังคมเป็นคนดีงาม เป็นคนที่ชอบศิลปะมีจิตใจอ่อนอ่อนโยน ผมก็เชื่อว่า จะทำให้สังคมของอำเภอชุมแสงต่อไปจังหวัดนครสวรรค์ และต่อไปก็จะเป็นสังคมที่มีสันติสุข มีความสงบ เพราะทุกคนก็มองว่าการอยู่ร่วมกันก็ต้องมีศิลปะในการอยู่ร่วมกัน” 

จากความชอบการวาดภาพในวัยเยาว์ ถึงแม้ช่วงชีวิตรับราชการต้องทำงานตรงกับสายงานที่จบมา แต่ด้วยชีวิตหลังการเกษียณอายุราชการ ในช่วงของสุดท้ายของชีวิตที่ยังทำงานได้ จากความถนัดในเรื่องการเขียนภาพ โดยใช้สีพาสเทล ทำทุก ๆ วัน-วันละ ๘ ชั่วโมง จนคิดว่าองค์ความรู้ที่ได้จากการฝึกฝน เรียนรู้ มากพอจะแบ่งปันให้กับนักเรียนหรือเยาวชนผู้สนใจโดยทั่วไป

งานนครสวรรค์ 17 18สิงหาคม 093

“ผมไม่ได้เรียนจบทางศิลปะโดยตรง ผมจบปริญญาตรีปริญญาโทปริญญาเอกทางการศึกษาแต่มีใจชอบศิลปะตั้งแต่เด็กและก็คิดว่าหลังจากที่ตัวเองเกษียณแล้วมีความชอบ แล้วก็มีฝีมืออยู่ในการทำงานด้านศิลปะกอบกับมีเพื่อนไม่ว่าจะเป็นวสันต์ สิทธิเขตหรือว่าศิลปินแห่งชาติ กิตติศักดิ์ มีสมสืบ ซึ่งเป็นเพื่อนรักกัน คิดว่าเรามีแนวทางอย่างนี้ ถ้าเราสามารถที่จะเรียนรู้ สร้างสรรค์ แบ่งปัน หมายความว่า  ในการทำงานผมก็คิดว่าเยาวชนหรือเด็กที่เราได้ไปแบ่งปันเขานะ เขาก็จะมีวิถีการใช้ชีวิตของเขาและผมก็เชื่อว่าสิ่งที่ผมทำไป ผมไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้นได้”

กว่า 5 ปีที่บ้าน “ศิลปะ ศุภ’กนิษฐ” เปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ ในชุมชนชุมแสงและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งเหล่านักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยือน บ้านศิลปะที่ไม่ได้หวังพึ่งพางบประมาณ หรือการเขียนโครงการเพื่อของบสนับสนุน ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ก็มาจากเงินบำนาญ ด้วยประสบการณ์ความเป็นข้าราชการที่ต้องเขียนโครงการ ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องรายงาน เสมือนมีข้อจำกัดให้ต้องอยู่ในกรอบ

“มันไม่มีอิสระเลย เพราะฉะนั้นแหล่งทุนของ“ศิลปะ ศุภ’กนิษฐ” ก็คือรายได้จากเงินบำนาญ บางทีไปทำกิจกรรมนอกสถานที่เขาใส่ซองมาบ้างก็เอาสิ่งเหล่านี้ มาทำกรอบรูป ซื้อสี กระดาษ อุปกรณ์ที่ใช้ในการสอนเด็ก แล้วก็คัดภาพทำเป็น Gallery in school “

บทสนทนาสิ้นสุดภาพตัดไปที่กิจกรรมซึ่งวันนี้ผมและทีมงานจะติดตาม ครูจิ๋ม ลุงจิ๋มไปสอนเด็ก ๆ ภาดภาพศิลปะที่ “โรงเรียนบางไซ”

โปรดติดตามตอนต่อไปใน “ภาคแบ่งปัน”….