บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ รินทร์

ถ้าหากปลายทางยังอีกยาวไกล แต่ร่างกายและจิตใจรู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีเหตุผลจำเป็นที่เราจะต้องเร่งเพื่อจะไปให้ถึงจุดหมาย การหย่อนกาย นั่งพักผ่อนศาลาริมทาง มองดูเบื้องหน้า ทุ่งนาเขียวขจี ไกลออกไปสุมพุม พุ่มไม้ใหญ่น้อย ต้นตาลโตนด และศาลเพียงตาเจ้าที่เจ้าทาง ภาพเหล่านี้เป็นแค่เพียงสิ่งธรรมดา สำหรับวิถีชุมชนละแวกนั้น แต่คนเดินทางเช่นผมเป็นเสมือนการหยุดพัก แบ่งเวลานึกย้อนไปยังวันวาร ค่อยๆ คลายความคิดและปรับเข็มทิศชีวิตให้สมดุลย์ 

ไม่จำเป็นต้องสรรหาคำอธิบาย ถึงความหมายของการคงมีอยู่ของสิ่งนั้น ไม่ต้องมีคำถามเพื่อแสวงหาความถูกต้อง ดั่งเช่นคำถามในห้องเรียน ซึ่งกำหนดไว้ด้วยถูกผิด แม้กระทั่งชีวิตจริงก็เถอะ ในบางทีเรานั่นแหละติดอยู่กับกรอบของ ความอยากได้ อยากมี ลองปลด ละ วางสิ่งเหล่านั้น เพื่อที่จะเปิดใจ เรียนรู้ สิ่งรายล้อมรอบกาย ท้องทุ่งนา ที่เป็นอู่ข้าว อู่น้ำ บอกถึงวิถีชีวิตกสิกรรมของชนชาติไทย ชนชาติอาเซียน รวมไปในระดับโลก เพียงแต่บ้านเขากับบ้านเราอาจมีวิธีการทำนาและพันธุ์ข้าวที่ต่างกัน นอกจากนั้นทุ่งนายังเป็นแหล่งอนุบาล กุ้งหอย ปูปลา และเจ้าทุย ซ้ำยังให้กำเนิดตำนานเรื่องราวของคู่รัก บทเพลง บทกวี ละคร และภาพยนต์

ต้นตาลยืนต้นสูงตระหง่าน ท้าทายกาลเวลา ภูมิปัญญาของคน ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ ในการบริโภคและคิดประดิษฐิ์สิ่งอุปโภค แม้กระทั่งศาลเพียงตายังเป็นที่มา ของรากเหง้าความเชื่อและศรัทธาที่สืบสานกันมา นับ พัน ปี ก่อนศาสนาพุทธ พราหมณ์ ฮินดู อิสลาม คริสต์ จะเข้ามายังดินแดนแถบอุษาคเนย์

ทว่าผู้คนก็ยังนับถือศาสนาผีดั้งเดิม พร้อมๆกับศาสนาใหม่ จนถึงทุกวันนี้ ด้วยความเชื่อ ที่ว่าผีหรือวิญญาณ มีอยู่ทุกที่ในธรรมชาติ รวมถึงสัตว์และคนตาย เมื่อผีกลายเป็นผู้มีอำนาจ สามารถดลบันดาลให้เกิดสิ่งดีร้ายกับชีวิตมนุษย์ การทำให้ผีพึงพอใจ เพื่อให้คนอยู่ห่างจากสิ่งร้าย จึงสำคัญยิ่งในวัฒนธรรมสังคมนับถือผี จึงเป็นที่มาของการสร้างที่สถิตเป็น หอ เรือน สำหรับผี รับเครื่องพลีกรรมบวงสรวงจากคนเพื่อขอขมา หรือบอกกล่าว ให้กิจกรรมที่จะทำหรือพื้นที่นั้นๆดำเนินสำเร็จไปด้วยดีไม่มีเรื่องร้ายติดขัด

ลมพัดวูบปะทะ คำหนึ่งคำผุดพราวออกมา  “ไม้ใหญ่ จะต้านพลังช้างสารได้อย่างไร หากไม่มีฐานรากที่แข็งแรง เช่นเดียวกับชาติ บ้านเมือง จะยั่งยืนมีเอกราชตราบจนทุกวันนี้ได้กระนั้นหรือ? หากคนในชาติลืมรากเหง้า วัฒนธรรมประเพณีของตนเอง” บทเรียนในห้องเรียน แทนที่จะเน้นแต่เก่ง ฉลาด ปรับเปลี่ยน การอยู่ร่วมกัน สัมผัสธรรมชาติ เล่าเรียนในวิถีทางแห่งรากเหง้า เพื่อที่จะได้รู้ คงไว้ซึ่ง…วัฒนธรรมประเพณี อันเป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง

 “กลุ่มชาติพันธุ์ไท / ไต (Tai / Dai) แต่บุร่ำบุราณ พร่ำสอนลูกหลานว่า …ได้กินข้าว อย่าลืมบูชา “เสื้อนา” (สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือผี ผู้คุ้มครองไร่นา) ได้กินปลา อย่าลืมบูชา “เสื้อน้ำ” (สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือผี ผู้คุ้มครองแหล่งน้ำ) 

ขอบคุณข้อมูล: อ้างอิง จากคุณ เจนจิรา เบญจพงศ์ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับวันที่ ๑๗-๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๔

ธีรภาพ โลหิตกุล : วีระ สุดสังข์ คอลัมป์ปรัชาญาอีสาน ทางอีศาน ฉบับ พฤศจิกายน ๒๕๕๙