บันทึกคนหลงทาง
เรื่องและภาพ : อัยย์ รินทร์
ในปกรณัม “วิวาหมูรติ” กล่าวถึงวัน“มหาศิวะราตรี” (Mahā Shivarātri) ซึ่งเป็นวันที่พระศิวะและพระนางปารวตีได้เข้าสู่พิธีสยุมพรอภิเษก ที่มีความหมายมงคลเพื่อการอวยพรแก่สาธุชนให้ “เริ่มต้นชีวิต (คู่) ด้วยความสุข”
“…พระศิวะทรงรับพระนางปารวตีจากหิมาลัยขึ้นมาประทับร่วมกันบนหลังโคนนทิ ที่ตกแต่งอย่างสวยงามเพื่อเป็นพระวาหนะในงานพิธีโดยพระวิษณุ พร้อมทั้งขบวนแห่แหนอันยิ่งใหญ่ของเหล่าสาวก ฤๅษี อสูร ยักษ์ – ยักษิณี คนธรรพ์ ปัตถะ นาคอุรคะ สิทธะ สาธยะ วิทยาธร อัปสราและภูตผีปีศาจจากทั่วจักรวาลมาทำพิธีอภิเษก ณ ไกรลาสวิมาน”
คือที่มาของประติมากรรมทับหลังจำหลักภาพ ‘อุมามเหศวร’ (พระอิศวรอุ้มพระแม่อุมาประทับบนโคนนทิ) และเสาประดับกรอบประตูรูปแบบรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นปราสาทขอม
เฉกเช่นเดียวกับที่โบราณสถานเขาคลังใน เนื่องจากมีปราสาทสององค์ตั้งอยู่ด้วยกันชาวบ้านเรียกว่า “ปรางค์สองพี่น้อง” ลักษณะของทับหลังและเสาประดับกรอบประตู ซึ่งกำหนดอายุของปรางค์ โดยอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนต่อนครวัด แต่ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อาจมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นวัดในพุทธศาสนา และถูกทิ้งร้างไปพร้อมๆ กับเมืองศรีเทพในระยะใกล้เคียงกัน
ปรางค์สองพี่น้อง เมืองโบราณศรีเทพ
แผนผังประกอบด้วยปราสาทสองหลังตั้งอยู่ใกล้กันในแนวเหนือ-ใต้บนฐานไพทีเดียวกัน โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ปราสาทหลังใหญ่ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของปราสาทองค์เล็กมีแผนผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม มุขยื่นออกมาทางด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นช่องประตูทางเข้า อีกสามด้านที่เหลือเป็นประตูหลอก ที่ด้านหน้ามุขปราสาทมีฐานศิลาแลงรูปกากบาท ส่วนหลังคาพังทลายจนไม่เห็นรูปทรง แต่จากการขุดแต่งพบกลีบมะเฟืองประดับหลังคาสลักจากศิลาแลง
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอื่นที่ค้นพบบริเวณปรางค์สองพี่น้อง เช่นเทวรูปพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ สลักจากศิลาทราย ที่บริเวณฐานศิลาแลงรูปกากบาท กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ เมื่อรวมกับที่เคยพบมาแล้ว ๕ องค์ ทำให้มีการค้นพบรูปพระสุริยเทพที่เมืองศรีเทพรวม ๖ องค์
ปัจจุบันจัดแสดงและเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จำนวน ๓ องค์ พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน สหรัฐอเมริกา จำนวน ๑ องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี ๑ องค์และเก็บรักษาไว้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ๑ องค์
แม้ว่าสุริยเทพที่พบที่ปรางค์สองพี่น้องอาจถูกนำมาจากที่อื่น เช่นเดียวกับอัฒจรรย์ศิลาวางอยู่หน้าทางเข้าห้องครรภคฤหะของปราสาทหลังใหญ่ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นหลักฐานสำคัญสะท้อนให้เห็นถึงลัทธิการนับถือพระสุริยะที่เมืองศรีเทพ อันเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากเมืองทวารวดีอื่นๆ ที่เจริญอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน.
ขอบคุณที่มาข้อมูลอ้างอิง
https://artculture.pcru.ac.th/ebooks/documents/20.pdf