บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ รินทร์
หลายปีก่อน ผมเดินจากปากคลองบางกอกน้อย สู่ปากคลองบางกอกใหญ่ เพื่อเรียนรู้ วิถีสองฝั่งคลองในปัจจุบัน ค้นหาภาพเก่าๆในวันวาน และศึกษาจากหนังสือ บทบันทึก จดหมายเหตุการณ์ต่างๆที่เหล่าคุรุในแต่ละยุค ได้สร้างคุณูปการไว้ให้กับคนรุ่นหลัง การเดินในครั้งนั้น เป็นเสมือนการก้าวสู่โลกที่แตกต่าง แม้จะดำเนินชีวิตในเมืองกรุงมาเนิ่นนาน และด้วยหน้าที่การงานที่ต้องให้คำแนะ สถานที่สำคัญต่าง ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ได้รับรู้ว่าควรไปสถานที่ใด
แต่ผมกลับสัมผัสได้ว่าความรู้เหล่านั้นยังไม่ถึงแก่น ยังมีอีกหลาย ๆ สิ่งหลายอย่าง ที่ผมควรจะต้องเปิดตา เปิดหูและเปิดใจเพื่อความเข้าใจ เช่นเดียวกับคลองบางกอกน้อย หรือ แม่น้ำเจ้าพระสายเก่า…ที่มีเรื่องเล่าเก็บงำไว้มากมาย ที่สำคัญก็คือเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกระหว่างทางที่ผมเดินผ่าน
เมื่อผมเดินมาถึงบริเวณประตูน้ำคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งมีวัดเก่าสมัยอยุธยา ชื่อวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร หรือชื่อที่เรียกขาน”วัดท้ายตลาด” เหตุที่เรียกว่าวัดท้ายตลาดเนื่องจากอยู่ต่อจากตลาดเมืองธนบุรี
ขณะที่กำลังก้าวเท้าขึ้นบันไดประตูน้ำ เห็นตุ๊กตาหินแกะสลัก เทพเจ้าชาวจีนหรือรูปปั้นแตกหัก อาจจะเป็นตุ๊กตาอับเฉาที่ข้ามน้ำ ข้ามทะเลมาจากเมืองจีน กองอยู่บนกองขยะ
ผมรู้สึกเสียดาย แต่ความเสียดายของผมในวันนั้นกลับถูกลืม และที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง คือทำไมไม่กดชัตเตอร์เก็บเอาไว้ จวบจนวานนี้ผมได้สนทนากับคุณตอง นาวินี พงษ์ไทย เธอและสามี มีแรงบันดาลใจ ในการสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านชุมชนกุฏีจีน เราสนทนากันหลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งก็คือ ครั้งหนึ่งเธอเดินทางไปเที่ยววัดโมลีโลกยารามฯ
“เห็นตุ๊กตาอับเฉาจีนกองอยู่ข้างกำแพงวัดใกล้กองขยะ พี่จึงชักชวนสามีไปขอจากทางวัดตั้งใจว่าจะเอามาบูรณะและจัดวาง”
เหลียวมองไปยังตุ๊กตาอับเฉา ที่วางอยู่ในสวนและอีกสองตัวกำลังจะถูกจัดวางแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑ์บ้านกุฏีจีน
“ของบางอย่างมีค่าสำหรับคนที่มองเห็นคุณค่าของมัน “