บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ รินทร์

ห่อผ้าผืนเก่าๆ มัดตรึงด้วยเชือกและมีแผ่นป้ายไม้แกะสลักอย่างสวยงามบอกที่มาของจัดทำผู้คัมภีร์ใบลานถวายแด่พระบรมศาสดา แผ่นป้ายพลาสติกเคลือบที่ผสมผสานกับวิวัฒนาการสมัยใหม่  สามารถสแกนอ่านเรื่องราวพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ บันทึกพงศาวดารของเจ้าผู้ครอบครองราชธานี นิยายปรัมปรา กวีบทกลอนฯลฯ ที่ถูกห่อหุ้มไว้ในผืนผ้า ผมกำลังเล่าถึงการเดินทางมาที่วัดสูงเม่น ทุกๆ ช่วงเวลาขึ้น ๑๓- ๑๕ ค่ำเดือน ๒ ของไทยทุกปี วัดแห่งนี้จะมี “ประเพณีตากธัมม์ตานข้าวใหม่หิงไฟพระเจ้า” ซึ่งได้ถูกรื้อฟื้นคืนกลับมาหลังเลือนหายไปนับร้อยปี    

“ตากธัมม์คือการนำคัมภีร์เก่าที่มีอยู่แล้วมาตากโดยมีตานธัมม์คือการถวายคัมภีร์ใหม่อาทิคัมภีร์ปีเกิดเทศน์มหาชาติหรือข้อธรรมะที่สนใจก็เขียนลงบนใบลานมาถวายโดยจะทำในช่วงฤดูหนาวของทุกปีกุศโลบายของประเพณีตากธัมม์นั้นเป็นไปตามความหมายของธรรมะเริ่มจากตานข้าวใหม่คือการแสดงออกถึงความกตัญญูตานไม้หลัวหิงไฟพระเจ้าเผาต่อหน้าพระพุทธรูปเพื่อเป็นการละชั่วและตากธัมม์โดยทางกายภาพนั้นเพื่อให้ใบลานมีสภาพอยู่ได้นานที่สุดแต่ในทางคำสอนก็เพื่อเป็นการชำระทำจิตใจให้บริสุทธิ์”  พระครูวิบูลสรภัญ รองเจ้าอาวาสวัดสูงเม่น ผู้อำนวยการสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน ได้อธิบายถึงกุศโลบายของประเพณีตากธัมม์

ส่วนเกิดขึ้นเมื่อไหร่? มีที่มาอย่างไร? ก็คงยากจะหาข้อสรุป ทว่าในหลักศิลาจารึกวัดวิชุนราช เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ซึ่ง ดร.ฮันส์ เพนธ์ (Hans Penth) ที่ปรึกษาโครงการวิจัยจารึกล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แปลไว้ “ในอดีตมีพระเถระจากวัดสูงเม่น เมืองโกศัยธชัคคะ (จังหวัดแพร่) นามว่า ครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร พ.ศ. ๒๓๓๒-๒๔๑๒ ได้เดินทางไปร่วมสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกและคัมภรีอื่นๆ ที่เมืองหลวงพระบาง ครูบามหาเถรได้นำคัมภีร์ส่วนหนึ่งกลับมาเมืองแพร่” นั่นอาจจะเป็นที่มาของประเพณีตากธัมม์ในดินแดนล้านช้าง มรดกความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทยในส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การยูเนสโก เมื่อ ปี พ.ศ ๒๕๕๙

ยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่านจากวาดภาพบนผนังถ้ำเล่าเรื่องราว สู่การสลักตัวอักษรจารึกลงบนแผ่นศิลา ผลิตผลทางความคิด ค้น ประดิษฐิ์สิ่งใหม่ๆ จดจารลงบนใบลาน สู่หน้ากระดาษและนวัตกรรมของพระไตรปิฎก แต่ละคัมภีร์ถูกย่อไว้ในระบบคิวอาร์โค๊ดที่สามารถสแกนอ่านได้โดยไม่ต้องเปิดห่อผ้าให้ใบลานเสียหาย เพราะกว่าจะได้คัมภีร์ใบลานแต่ละแผ่น แต่ละมัดต้องใช้ความอดทน พยายาม ดร.ดิเรก อินจันทร์ นักใบลานศึกษาได้ให้คำจำกัดวิธีการจารใบลานไว้ว่า

“เริ่มจากตัดใบลานแก่ กรีดเป็นแผ่น ต้ม ตาก หากใบลานบิดตัว ทับให้แล้วเรียบตีเส้นบรรทัด จากนั้นเขียนด้วยเหล็กแหลมหรือดินสอจารแล้วใช้เขม่าไฟผสมน้ำมันให้ฝังลงร่อง ไม่นานนักตัวอักษรก็ปรากฏให้เห็น”

 ไออุ่นจากแสงแดดยามเช้าสาธุชนหลั่งไหลกันมาทำบุญ ตักบาตร พ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยาย จูงลูก-จูงหลาน มาร่วมงานสืบสานประเพณีแห่พระคัมภีร์ใบลาน รอบพระอุโบสถ ก่อนจะนำไปตากไว้บริเวณเจดีย์ครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร ไม่เกินเที่ยงวันต้องเก็บเพื่อป้องกันใบลานเสียหาย แต่ละวันมีเรื่องเล่ามากมาย ยิ่งเดินทางยิ่งได้เห็น ได้เรียนรู้และบางความหมายคือการส่งสาส์นให้คนทั่วไป ส่วน “ประเพณีตากธัมม์ ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า”จะยังคงอยู่หรือไม่ในวันข้างหน้า ก็ขึ้นอยู่กับเราๆ ท่านๆ จะเล่าเรื่องอะไรให้คนในอนาคตเขาได้จดจำ. 

กราบนมัสการพระครูวิบูลสรภัญ รองเจ้าอาวาสวัดสูงเม่น ผู้อำนวยการสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน ขอบพระคุณ ผู้ใหญ่ เล็ก (นางกชปภรณ์ ขุนกัน) หมู่ที่ ๑ ต.สูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่ และคุณอดิศร ไชยบุญเรือง ที่เอื้อเฟื้อ ดูแล ให้ข้อมูลกับทีมงาน เรือนพิมพ์แม่ชอบหรือหญ้าแฝกสตูดิโอในการบันทึกภาพวิดีโอประเพณีตากธัมม์และการเรียกขวัญข้าวขึ้นยุ้ง

***อ้างอิง

จากหนังสือแบบเรียนภาษาล้านนา เพื่อการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน โดยสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน วัดสูงเม่น

สารคดีฉบับ ๔๐๑ กรกฏาคม ๒๕๖๑ มีอะไรในตะกร้าสามใบ โดยวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง