บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ รินทร์

วันออกพรรษา คือ วันที่สิ้นสุดระยะเวลาการจำพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือน (นับตั้งแต่วันที่เข้าพรรษา) โดยเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันมหาปวารณา คำว่า ปวารณา แปลว่า อนุญาต หรือ ยอมให้ซึ่งในวันออกพรรษานี้ พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ เรียกว่า มหาปวารณา จะเป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เพราะในระหว่างเข้าพรรษา พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข การให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้จะทำให้รู้ข้อบกพร่องของตน อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันอีกด้วย 

รำพาข้าวสาร
ขบวนเรือรำพาข้าวสาร*

สมัยพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมและเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาโดยจำพรรษาอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลา ๑ พรรษา และเมื่อออกพรรษาแล้ว พระองค์ได้เสด็จกลับยังโลกมนุษย์

ณ เมืองสังกัสสนคร การที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จลงมาจากชั้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกตามศัพท์ภาษาบาลีว่า  “เทโวโรหณะ”ในครั้งนั้นบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธาเลื่อมใส เมื่อทราบข่าวต่างพร้อมใจกันไปรอตักบาตรเพื่อรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น จนถือเป็นประเพณีตักบาตรเทโวปฏิบัติสืบทอดกันมาจนตราบทุกวันนี้

IMG 0172

ในภาพชาวบ้านที่อยู่อาศัยบริเวณริมแม่น้ำ สองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งชาวพุทธศาสนิกชน ต่างเตรียมอาหารคาวหวาน อาหารแห้ง ผัก ผลไม้ มาทำบุญตักบาตรพระภิกษุสงฆ์ จำนวนกว่าร้อยรูปที่นั่งอยู่บนลำเรือ โดยจะเริ่มตั้งแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ จนถึงช่วงวันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ วัดใหญ่ ๆ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและริมคลอง  จะจัดให้มีการทำบุญตักบาตรพระร้อย  กำหนดแบ่งวันกันอย่างชัดเจนเพราะจะต้องนิมนต์พระจำนวนมาก

สมัยก่อนการทำบุญตักบาตรจะประกอบขึ้นในเรือ ชาวบ้านจอดเรือจับเข้ากันเป็นพวง จัดเตรียมอาหารมาใส่บาตร ส่วนพระภิกษุสงฆ์ลงเรือนั่งเป็นประธาน มีลูกศิษย์วัดนั่งหัวเรือ ท้ายเรือคอยสาวเรือไปตามพวงหรือรับอาหารบิณฑบาต แต่ปัจจุบันอาจเปลี่ยนไปบ้างตามกาลสมัย  ชาวบ้านไม่ได้ขนลงเรือมาทำบุญตักบาตรเฉกเช่นเมื่อก่อน หลายๆ บ้านไม่มีเรือใช้ ทั้งมีการสร้างประตูน้ำกั้นปากคลองที่จะออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และการคมนาคมทางบกนั้นสะดวกกว่า แต่ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของบรรดาพุทธศาสนิกชนการตักบาตรพระร้อยจึงเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดปทุมธานี

“รำพา” หมายความว่าการชักชวนเชิญชวนการรำพาข้าวสารหมายถึงการเชิญชวนท่านผู้ที่มีจิตศรัทธาได้ร่วมทำบุญการเชิญชวนท่านผู้ที่มีจิตศรัทธาได้ร่วมทำบุญด้วยการรำพาข้าวสารหมายถึงการร้องรำพาด้วยถ้อยคำสำเนียงเสียงภาษาที่ไพเราะเสนาะต่อผู้ที่ได้ฟังจนเกิดศรัทธาและร่วมบริจาคสิ่งของต่าง ๆ ร่วมทำบุญ.