บ้านขุนอินทร์ คีรี (ช้อย ณ นคร) นายอำเภอตะกั่วป่า เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔-๒๔๖๙
เรื่องและภาพ : ชิด ชยากร
เชื่อเหลือเกินว่าชาวตะกั่วป่าสมัยใหม่น้อยคนที่จะรู้ว่า ในช่วงราว ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา บ้านเรามีบุคคลที่มีตำแหน่งเป็น “ขุน” ทั้งหมด ๖ คน ตำแหน่ง “ขุน” เป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งจากในหลวงรัชกาลที่ ๖ โดยมีการเรียงลำดับชั้นยศ ดังนี้ บุคคลธรรมดา-ไพร่พล – หัวหมู่ – พัน- หมื่น -ขุน-หลวง-พระ-พระยา – เจ้าพระยา -สมเด็จเจ้าพระยา ท่านขุนทั้งหมดที่เมืองตะกั่วป่ามีรายนามดังนี้ (ผมได้รับฟังมาเป็นคำบอกเล่า มิได้ค้นคว้าจากเอกสารใด คิดว่ามีชื่อบางท่านอาจจะไม่ถูกต้อง ถ้าเพื่อนคนใดทราบ กรุณาชี้แนะด้วยครับ
๑. ขุนจำนงภักดี กุลวานิช เป็นกรมการเมืองและนายอากรของตะกั่วป่า บ้านของท่านอยู่ที่สามแยกตลาดใต้ เป็นบ้านเลขที่ ๑ ถนนอุดมธารา ปัจจุบันยังมีชื่อของท่านติดอยู่หน้าบ้าน และเป็นบ้านในกรรมสิทธิ์ของลูกหลานในตระกูลกุลวานิช – บ้านหลังนี้คนบ้านเราต่างคุ้นเคยกันดี
๒. ขุนอินทรคีรี (ช้อย ณ นคร) บ้านขุนอินทรถือเป็นบ้านหลังหลังใหญ่ที่โดดเด่นที่สุดในตลาดเก่า ท่านเป็นหลานของพระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร) มีตำแหน่งเป็นนายอำเภอตะกั่วป่า เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔-๒๔๖๙ บ้านหลังนี้สร้างราวปี พ.ศ.๒๔๖๐ โดยฝีมือช่างชาวจีน ปัจจุบันได้รับการบูรณะจนมีสภาพต่างไปจากเดิมไม่น้อย
๓. ขุนวันวิทย์ปรีชา – เป็นอดีตนายอำเภอตะกั่วป่าเช่นกัน ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งน่าจะมีอยู่ที่ทะเบียนนายอำเภอ บ้านที่ขุนวันเคยอยู่อาศัย ปัจจุบันอยู่เยื้องกับโรงเรียนเทศบาลบ้านศรี อยู่ติดกับไปรษณีย์ตลาดเก่า
๔. ขุนวิทย์ – ผมไม่มีข้อมูลของท่าน ทราบเพียงว่ามีบ้านอาศัยอยู่ในตลาดย่านยาว
๕. ขุนกุล – พยายามหาข้อมูลแล้วแต่ไม่เจออันใด ทราบเพียงว่าบ้านอยู่ตรงข้ามโรงพระตลาดใต้ ซึ่งห่างจากบ้านขุนจำนงฯเพียงแค่คนละฝั่งถนน
๖. ขุนกลั่นแก้วกำธร – ชื่อนี้ผู้บอกกล่าวไม่แน่ใจนักว่าถูกต้องหรือไม่ ข้อมูลที่ได้รับฟังมาคือ ท่านขุนผู้นี้เป็นบิดาของ “แป๊ะพวย” เจ้าของโรงหนังกลั่นแก้วที่โด่งดังนั่นเอง
….เรื่องที่ผมนำมาบอกเล่า เชื่อเหลือเกินว่าหลายท่านยังไม่เคยทราบ ถือได้ว่าเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของตะกั่วป่า ซึ่งถ้าไม่มีการบันทึกไว้ทุกอย่างอาจจะสูญหายไปกับกาลเวลา