บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ รินทร์
ชุมชนเก่าแก่แรกเริ่มของเมืองนครชัยศรี สันนิษฐานว่ามีการสร้างบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย มาตั้งแต่สมัยอยุธยาโดยเฉพาะบริเวณปากคลองบางแก้ว วัดกลางบางแก้ว ซึ่งเดิมนั้นชื่อวัดคงคาราม แต่คนทั่วไปเรียกว่า วัดกลางและบริเวณตลาดนครชัยศรี (ตลาดท่านา) พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวว่าในปี พ.ศ. ๒๐๙๑ รัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้
“ไพร่บ้านพลเมืองตรีจัตวาปากใต้เข้าพระนครครั้งนี้น้อย หนีออกอยู่ป่าดงห้วยเขาต้อนไม่ได้เป็นอันมาก ให้เอาบ้านท่าจีนตั้งเป็นเมืองสาครบุรี ให้เอาบ้านตลาดขวัญตั้งเป็นเมืองนนทบุรี ให้แบ่งเอาแขวงเมืองราชบุรี แขวงเมืองสุพรรณบุรี ตั้งเป็นเมืองนครชัยศรี”
จากเมืองจัตวาพัฒนาสู่การเป็นท่าเรือศูนย์กลางทางด้านการค้า การคมนาคม ขนส่ง เริ่มมีชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งรกรากและสร้างชุมชนเมืองริมแม่น้ำท่าจีนหรือนครชัยศรี ล่วงมาถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๕ ) โปรดเกล้าฯ ให้รวม ๓ หัวเมือง คือ นครชัยศรี, สมุทรสาคร, สุพรรณบุรี ขึ้นเป็นมณฑลนครไชยศรีย้ายเมืองมาตั้งที่บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ และต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดให้ยุบ “มณฑลนครไชยศรี” เปลี่ยนเป็นอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐ
แม้ปัจจุบันชุมชนนครชัยศรีจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หากสิ่งที่ยืนยันถึงชุมชนเก่าแก่ที่มีความเป็นมายาวนาน ดังจะเห็นได้จากศิลปะ สถาปัตยกรรมของอาคารบ้านเรือนที่ได้รับการอนุรักษ์ มนต์เสน่ห์แห่งวิถีชีวิตริมแม่น้ำนครชัยศรี ย่านการค้าขาย มีศาสนสถานศูนย์กลางพลังศรัทธา ควบคู่ไปกับประเพณี วัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ นอกจากนี้ชุมชนนครชัยศรียังอุดมด้วยตำรับอาหารพื้นถิ่นที่ได้รับการสืบสานและส่งต่อมาหลายชั่วอายุคน
จากหนังสือ : ตำรับเก่าเล่าเรื่อง ณ เมืองนครชัยศรี
จัดพิมพ์โดย : โครงการวิจัยจากเก่าสู่เก๋า นวัตกรรมอาหารไทยโบราณ-มรดกทางวัฒนธรรม ที่ล้ำค่าของมณฑลนครชัยศรี
ผศ.ดร.ศริยามน ติรพัฒน์ : ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย
เรียบเรียงและภาพประกอบ : ศรยุทธ รุ่งเรือง/สุชาติ ชูลี
ภาพเก่า : วลี สวดมาลัย