เรื่องและภาพ : ชิด ชยากร

เอ่ยชื่อ “เต้าหมิง” ขึ้นมา ชาวตะกั่วป่าทุกคนรู้จักกันดี แต่ขอบอกให้เพื่อนๆที่อยู่ที่อื่นทราบก่อนว่า เต้าหมิงเป็นชื่อของโรงเรียนที่สอนภาษาจีนแห่งเดียวของเมืองตะกั่วป่า เป็นโรงเรียนเอกชนที่มีการแจ้งความจำนงขอจัดตั้งเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2463 จุดประสงค์เพื่อให้การศึกษาแก่ลูกกลานคนจีนในท้องถิ่น ชื่อโรงเรียนในตอนนั้นคือ “โต๊ะเบ๋ง” ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น “เต้าหมิง” ส่วนอาคารหลังใหญ่ที่อยู่ในภาพ สร้างเสร็จเมื่อปี 2480

โดยการร่วมทุนระหว่างพ่อค้า คหบดีชาวตะกั่วป่าและระนอง โรงเรียนได้ปิดสอนมาเรื่อยๆ มีการสอนทั้งภาษาไทยและภาษาจีน หลายครั้งถูกเพ่งเล็งจากทางการ ด้วยกลัวว่าจะเป็นการฝักใฝ่ในลัทธิสังคมนิยม แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี ช่วงหลังมีปัญหาเรื่องขาดครูสอนภาษาจีน เต้าหมิงจึงถูกปิดตัวลงเมื่อ พ.ศ.2540
เข้าเรื่องของเราดีกว่า…

ที่ผมเขียนว่า “งานเดือนสาม” หมายถึงงานตรุษจีน ที่ทุกปีจะมีการจัดขึ้นที่โรงเรียนเต้าหมิงแห่งนี้ แม้ที่นี่จะมีพื้นที่ไม่มาก แต่ความมีชื่อเสียงของงานกลับเป็นที่ลือเลื่อง ถ้าจะถามว่ายิ่งใหญ่ขนาดไหน ตอบได้เลยว่าเทียบเท่างานกินผักประจำปี แม้ในตะกั่วป่าจะมีการจัดงานประจำปีหลายแห่ง ไม่ว่าจะจัดที่สนามหน้าอำเภอ วัดคงคา วัดลุ่ม หรือที่แห่งไหนก็ตาม ไม่มีที่ใดจะได้รับความนิยมเท่างานเต้าหมิง

ทุกครั้งที่มีงานที่นี่ ผู้คนแห่แหนกันมาจากสารพัดทิศ มิใช่จะมีแต่เฉพาะคนตะกั่วป่าเท่านั้น บ้างมาไกลจากคุระบุรี กะปง ท้ายเหมือง สมัยนั้นคนมีรถส่วนตัวกันไม่มากนัก จึงมีการเหมารถกันมา เรียกได้ว่าขนกันมาทั้งหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีชาวอีสานที่มาทำงานในเหมือง รับจ้างตัดยาง ก็มาร่วมงานกันอย่างเนืองแน่น

น่าสงสัยเหมือนกันว่า อะไรคือเสน่ห์ของเต้าหมิง คำถามนี้ถือว่าตอบยากมาก เพราะงานประจำปีของแต่ละที่ต่างมีมหรสพอะไรไม่ต่างกัน แต่ทุกแห่งกลับไม่มีมนต์เสน่ห์เท่าเต้าหมิง เด็กๆแถบนั้นชอบงานนี้เป็นพิเศษ เพราะช่วง “เดือนสาม” จะได้อั่งเปาจากผู้ใหญ่ เงินที่ได้ถูกนำมาซื้อขนมซื้องของเล่นกันอย่างมีความสุข

ผมเรียนหนังสือที่โรงเรียนสถาพรพิทยา หลังเลิกเรียนจะเดินไปเที่ยวงานเต้าหมิงก่อนกลับบ้าน ทั้งๆที่ตอนนั้นมหรสพต่างๆยังไม่ได้ละเล่น เรียกได้ว่าไปหาซื้อของเล่นซึ่งเป็นปกติของเด็ก การเข้างานจะต้องซื้อบัตรผ่านประตูที่หน้าโรงเรียน ห้องขายบัตรมุงและกั้นด้วยสังกะสี คนขายบัตรนั่งขายอยู่ด้านใน จะเริ่มเก็บค่าผ่านประตูตั้งแต่ 5 โมงเย็นเป็นต้นไป ถ้าผมจำไม่ผิด ราวปี 2515 ค่าผ่านประตูคนละ 3 บาท ถ้าใครเข้าไปก่อน 5 โมง-ไม่ต้องเสียเงิน

พอเดินเข้าไปในเขตงาน สองข้างทางจะมีแม่ค้าขายขนมจาก ข้าวหลาม ข้าวเกรียบว่าวหลายเจ้า ต่างคนต่างนั่งขายตามที่ๆกรรมการจัดงานจัดไว้ให้ ในความเป็นเด็กสิ่งที่ชอบคือร้านขายของเล่น ในงานมีอยู่หลายร้านมาก เป็นของเล่นแปลกใหม่ที่พวกเราไม่ค่อยได้เห็น ผมเคยชอบและซื้อกล้องฉายหนังมาอันหนึ่ง ราคา 5 บาท ในกล้องจะมีฟิล์มหนังมาให้ ถ้าจะดูหนังต้องเอามือหมุนด้ามจับ เพื่อให้ฟิล์มหมุน แล้วภาพที่เราเห็นบนจอจะเป็นภาพที่เคลื่อนไหวเหมือนกับดูหนังจริงๆ การละเล่นและสิ่งที่ผู้คนสนใจมากในสมัยนั้น มีทั้งลิเก-ส่วนมากเป็นลิเกดังจากภาคกลาง แม้แต่ยอดลิเกอย่าง “สมศักดิ์ ภักดี”ยังเคยมาแสดงที่นี่

มโนราห์-เป็นอีกหนึ่งนาฎศิลป์ที่มีมิได้ขาด เพียงแต่ช่วงหลังๆมโนราห์หายไป เพราะได้รับความนิยมน้อยลง นอกจากนี้ยังมีหนังกลางแปลง, หนังตะลุง, รำวง, วงดนตรี, ชิงช้าสวรรค์, บอลโต๊ะ, ปาเป้า-ยิงเป้า, ร้านรับถ่ายรูป, ร้าน “เล่นโย”(หรือเรียกเป็นภาษาสากลว่าบิงโก), การแข่งขันชกมวย ฯลฯ
มีเวทีการแสดงอยู่ข้างสนามบาส เวทีนี้จัดให้มีการแสดงของนักเรียนโรงเรียนต่างๆบ้าง การแสดงวงดนตรีบ้าง เวทีนี้ถือเป็นเวทีกลางที่มีการละเล่นเรียกความสนใจได้มาก

อีกอย่างหนึ่งซึ่งถือเป็นเสน่ห์และถือว่างานที่อื่นไม่มี นั่นคือการแข่งขันบาสเก็ตบอล ซึ่งถือเป็นงานใหญ่มาก มีทีมเข้าแข่งขันมากมาย บางครั้งมาจากท้ายเหมือง, พังงาก็มี ทุกคืนที่มีการแข่งขัน จะมีคนรายล้อมหนาตาไปหมด การแข่งขันบาสเก็ตบอลมีมาหลายปี จนเกิดยอดนักบาสขวัญใจชาวตะกั่วป่าขึ้นมา ยุคนั้นทุกคนต่างรู้จักและชื่นอบเขามาก ถ้าเอ่ยชื่อแล้วต้องรู้จักกันทั้งหมด บุคคลผู้นั้นคือ “โก้ตี้-สุธน กิตติธรกุล”

ปี 2517 นอกจากบาสเก็ตบอลแล้ว ยังจัดให้มีการแข่งขันแชร์บอลนักเรียนด้วย ครั้งนี้ผมจำได้ดี เพราะตัวเองก็เป็นหนึ่งในตัวผู้เล่นของทีมโรงเรียนสุทธินอนุสรณ์ ปลายปีที่ผ่านมาเราได้ที่ 3 ของการแข่งกีฬานักเรียนอำเภอ แต่ถัดมาไม่ถึงสองเดือน เรากลายเป็นทีมแชมป์ของเต้าหมิง โดยการปราบแชมป์และรองแชมป์ของอำเภอได้อย่างสนุก ของกินที่มีกลิ่นหอมไปทั่วทั้งงาน คือร้านไก่ย่างจีระพันธ์ ไก่นับร้อยตัวเหลืองเพราะขมิ้นถูกย่างไฟล่อตาล่อใจ..ใครผ่านไปผ่านมาเชื่อได้เลยมาต้องกลืนน้ำลายอย่างแน่นอน

งานเต้าหมิงจัดติดต่อกัน 7 คืน คืนสุดท้ายมีคนไปเที่ยวหนาแน่นที่สุด เรียกได้ว่าเดินเองยังยาก..เหมือนถูกดันไปตามกระแสคลื่นมุษย์ ผมไม่ทราบว่างานเริ่มจัดเมื่อปีไหน รู้แต่ว่าน่าจะเลิกจัดหลังปี​ 2530 ถามว่าทำไมถึงได้เลิก นั่นเป็นเพราะยุคนั้นราคาแร่เริ่มไม่ดี เศรษฐกิจของตะกั่วป่ามีแร่เป็นสายเลือดใหญ่ เมื่อทุกอย่างเริ่มถดถอย ย่อมมีผลถึงงานรื่นเริงต่าง ๆ ด้วย ไม่ว่าจะอย่างไร คำว่า “งานเต้าหมิง” น่าจะยังฝังใจคนตะกั่วป่ารุ่นเก่าตราบนานเท่านาน


*ขอบคุณรูป-บางรูปจากอินเตอร์เน็ต

ขอบคุณเพื่อน ๆ ที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้